“ประมงจันทบุรี”แนะวิธีเกษตรกรมีส่วนร่วมจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ

24 ต.ค. 2567 | 09:58 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 10:10 น.

ประมงจันทบุรี แนะเกษตรกรมีส่วนร่วมจัดการปัญหา “ปลาหมอคางดำ” เตรียมพื้นบ่อให้แห้ง กรองน้ำก่อนเข้าบ่อ และใช้กากชากำจัดปลาในบ่อ

สำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี สนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ในบ่อเพาะเลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำค่อนข้างน้อย 

พร้อมแนะนำเกษตรกรควรให้ความสำคัญ กับการเตรียมพื้นบ่อให้แห้งที่สุด และการกรองน้ำที่สูบเข้าบ่อ ช่วยลดผลกระทบจากปลาหมอคางดำและเชื้อโรค และมีส่วนร่วมควบคุมปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกด้วย

นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน นอกจากจะมีการลงทุนสูงแล้ว ต้องอาศัยความรู้และการจัดการที่ดี การเรียนรู้และติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันในตลาดได้ 

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์อยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรีได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะเกษตรกรให้ความใส่ใจ และมีแนวทางในการจัดการปลาหมอคางดำ ในกระบวนการเตรียมบ่อ และระหว่างการเลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสียหายให้มากที่สุด 

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรี รวมถึงเกษตรกรในภาคตะวันออก เป็นผู้นำในการทำฟาร์มแบบพัฒนา หรือ การเลี้ยงกุ้งในฟาร์มระบบปิด (Closed System) มีการควบคุมคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด  

เกษตรกรมีประสบการณ์สูงในการป้องกันสัตว์แปลกปลอม หรือเชื้อโรคเข้าสู่บ่อกุ้งตลอดกระบวนการเลี้ยง เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งเคยประสบปัญหาปลาหมอเทศจึงนำประสบการณ์จัดการป้องกันสัตว์แปลกปลอมเข้าสู่ฟาร์มกุ้งป้องกันความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอคางดำได้ดี

                         “ประมงจันทบุรี”แนะวิธีเกษตรกรมีส่วนร่วมจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ

นายสมพร ให้คำแนะนำว่า การเตรียมบ่อเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกร สามารถป้องกันปลาหมอคางดำ และเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์มกุ้งได้  หลังจากจับกุ้งหมดแล้วก่อนจะเลี้ยงกุ้งรอบต่อไปต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้หมด และเอาเลน หรือ ของเสียออกจากพื้นบ่อ 

หลังจากนั้น ตากบ่อให้พื้นบ่อแห้งสนิท ก่อนโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ และเกษตรกรบางรายยังปูพื้นบ่อด้วยพลาสติก PE  หากในบ่อเลี้ยงเคยพบปลาหมอคางดำ ก่อนนำน้ำออกจากบ่อเกษตรกร ต้องกำจัดปลาหมอคางดำ ก่อนปล่อยน้ำออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการลดระดับน้ำให้ต่ำที่สุด ในระดับประมาณ 20 เซนติเมตร โรยกากชาก่อนจับปลาหมอคางดำออกให้หมด ในขั้นตอนการนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยง ใช้ถุงตาข่ายละเอียดกรองน้ำที่สูบเข้ามาในบ่อ เพื่อป้องกันปลาหมอคางดำเล็ดรอดเข้ามาในฟาร์ม 

                               “ประมงจันทบุรี”แนะวิธีเกษตรกรมีส่วนร่วมจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ

หลังจากการปล่อยกุ้งลงบ่อแล้ว 1 เดือน เกษตรกรมีการเช็คยอทุกวัน เพื่อสุ่มตรวจสุขภาพและอัตราการเติบโตของกุ้ง ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เกษตรกรทราบว่า มีปลา หรือ สัตว์น้ำแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในบ่อเลี้ยง หากพบปลาหมอคางดำเกษตรกร รอให้กุ้งเติบโตสักระยะหนึ่งแล้วลดระดับน้ำในบ่อเลี้ยงและโรยกากชาเพื่อจับปลาหมอคางดำออกบ่อให้หมด

นายสมพร กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรมีได้ผลผลิตที่แน่นอน ยังมีส่วนร่วมควบคุมการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในชุมชนโดยรอบอีกด้วย