รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กำลังยกร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์โคนม พ.ศ.2551 ที่มีการบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลากว่า 26 ปี ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มอำนาจคณะกรรมการฯ สามารถกำหนดราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมได้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ อ.ส.ค. รายงานสภาพปัญหาและเป้าหมายของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ที่ผ่านมาพ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์โคนม พ.ศ.2551 มีการบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลา 26 ปี และยังไม่เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติม แม้การบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมจะบรรลุวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการตรากฎหมาย
แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาและอุปสรรคบางประการตามข้อมูลที่ปรากฏในรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์โคนม พ.ศ.2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการกำหนดราคา เพราะการปรับราคาน้ำนมโคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมนั้น กระทบกับผู้เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมนมทั้งหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้นการที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมมีแต่เพียงอำนาจในการกำหนดราคาซื้อน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม แต่ไม่มีอำนาจกำหนดราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมทำให้การปรับราคาน้ำนมโคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เพราะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม รวมถึงประชาชนผู้บริโภคในเรื่องของราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมด้วย และการให้ความหมายของบทนิยามด้วย
สำหรับความมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์ อ.ส.ค.ได้พิจารณาถึงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 จำเป้นต้องปรับปรุงให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมมีองค์ประกอบของกรรมการโดยตำแหน่ง ที่มาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย แผนงาน และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ครบถ้วนสอดคล้องกับภารกิจและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้ง มีองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อที่ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนมทั้งระบบ
2.คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมมีอำนาจในการกำหนดทั้งราคารับซื้อและราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมได้อย่างทันท่วงที โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย
เนื้อหากฎหมายที่จะนำมาเป็นประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... มีดังต่อไปนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์นม” โดยให้มีความหมายว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำนมโค นมผงและนมคืนรูปมาผ่านขบวนการผลิต โดยการแยกออกหรือเติมเข้าไปซึ่งวัตถุอื่นใด
2.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำนมโค” โดยให้มีความหมายว่า น้ำนมที่รีดจากแม่โคหลังคลอดลูกที่ปราศจากน้ำนมเหลือง โดยมิได้แยกหรือเติมวัตถุอื่นใด และยังไม่ผ่านกรรมวิธีการผลิต ในขั้นตอนใด ๆ
3.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เกษตรกรโคนม” โดยให้มีความหมายว่า ผู้ประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และมีสถานะเป็นผู้ส่งน้ำนมโคให้กับศูนย์รับน้ำนมโคขององค์กรของรัฐ องค์กรของเอกชนหรือสหกรณ์
4.ยกเลิกบทนิยาม “ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม" และ “ผู้แทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม”
5.เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม” โดยให้มีความหมายว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจการผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งโคนมหรือผลิตภัณฑ์นม หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
6.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม” โดยให้มีความหมายว่า ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม
7.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยยกเลิกการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเพิ่มเติมกรรมการโดยตำแหน่งจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของคณะกรรมการในปัจจุบันที่ไม่ได้บริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนแล้ว และมุ่งเน้นด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศและด้านงบประมาณมากขึ้น เปลี่ยนแปลงกรรมการและเลขานุการ และการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการ จากเดิมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เป็นกรมปศุสัตว์
รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เพิ่มเติมผู้แทนภาคผู้บริโภค 1 คน เพื่อให้ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนมทั้งระบบ
8.แก้ไขเพิ่มเติมการประชุมของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยกำหนดจำนวนครั้งของการประชุมในแต่ละปี
9.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการกำหนดราคา เนื่องจากการปรับราคาน้ำนมโคเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นกระทบกับผู้เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมนมทั้งหมด
จึงเห็นควรให้คณะกรรมการมีอำนาจในการกำหนดทั้งราคา รับซื้อและราคาจำหน่ายน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมได้อย่างทันท่วงที โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย
อ่านรายละเอียด : ร่าง พ.ร.บ. โคนมและผลิตภัณฑ์นม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....