ชำแหละเส้นทางธุรกิจมืด-สีเทา ฟอกเงินผ่านคริปโต

31 ต.ค. 2567 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 08:16 น.

ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ย้ำความเชื่อมั่นตลาดคริปโต หลังถูกโยงใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินธุรกิจสีเทา-อาชญากร ระบุมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น พร้อมเผยกระบวนการฟอกเงินผ่านคริปโต แนะรัฐ กำหนดมาตรการตรวจสอบชัดเจน และนำมาตรการ AML มาใช้กับคริปโต

ในปัจจุบัน คริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ และ อีเธอเรียม ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและการทำธุรกรรมทางการเงินที่รวดเร็วและไร้พรมแดน แต่ความสะดวกนี้ก็นำมาซึ่งความกังวลว่าคริปโตอาจกลายเป็นเครื่องมือที่อาชญากรใช้ในการฟอกเงิน อย่างไรก็ตามในความจริงแล้วคริปโตถูกใช้ฟอกเงินเพียง สัดส่วนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการฟอกเงินผ่านเงินสดที่ยังคงเป็นช่องทางหลักในปัจจุบัน

ชำแหละเส้นทางธุรกิจมืด-สีเทา ฟอกเงินผ่านคริปโต

นายอัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์  ประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO)   กล่าวว่าการฟอกเงินผ่านคริปโตเคอเรนซี ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสด  โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับการฟอกเงินผ่านสินทรัพย์ประเภทต่างๆทั้งหมดทั่วโลก  โดยการฟอกเงินเกิดขึ้นได้ในทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นเงิน , เครื่องดนตรี อาทิ ไวโอลิน , ทองคำ เป็นต้น

ทั้งนี้กรณีที่อาชญากรใช้คริปโต  โดยเฉพาะเหรียญ USDT , USDC ในการฟอกเงินนั้น มองว่าคริปโตที่มีเสถียรภาพ สามารถทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศและใช้เป็นคู่เทียบซื้อขายคริปโตได้ อีกทั้งเป็นสินทรัพย์ที่สะดวกรวดเร็ว เคลื่อนย้ายได้ง่าย และ มีต้นทุนต่ำ

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจสอบลักษณะการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัย เช่น รายได้ไม่สัมพันธ์กับวอลุ่มซื้อขาย เป็นต้น”

นายปรีชา ไพรภัทรกุล  กรรมการ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย    (TDO)  กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย  มีการปฎิบัติตามเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวด  โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการ เพิ่มการตรวจสอบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรต้องสงสัยมากขึ้น

ชำแหละเส้นทางธุรกิจมืด-สีเทา ฟอกเงินผ่านคริปโต

ขณะที่ขั้นตอนการยืนยันตัวตน (KYC) ปัจจุบันมาตรการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด   โดยสำหรับการเปิดบัญชี ซื้อขายคริปโตนั้นมีการ KYC  2  ขั้น  ขึ้นแรกคือต้องเปิดบัญชีธนาคาร  ซึ่งต้องผ่านขั้นตอน  KYC ธนาคาร  แล้วนำมาเปิดบัญชีซื้อขายคริปโต ซึ่งก็ต้องผ่านขั้นตอนการ KYC  อีกรอบ    โดยบัญชีธนาคารที่นำมาเปิดบัญชีซื้อขายคริปโตนั้นจะต้องเป็นชื่อเดียวกัน

ชำแหละกระบวนการฟอกเงินผ่านคริปโต

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มิจฉาชีพใช้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเครื่องมือการฟอกเงินนั้น  อย่างแรกคือเปิดบัญขีธนาคารง่าย  โดยการฟอกเงินผ่านคริปโตเคอร์เรนซีมักเริ่มจากการใช้บัญชีม้า หรือบัญชีธนาคารที่เปิดโดยบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจริง เพื่อกระจายเงิน การฟอกเงินผ่านคริปโตมีการใช้บัญชีเหล่านี้ เพื่อรับเงินที่ถูกโอนผ่านคริปโต และถอนเงินสดออกจากบัญชีธนาคาร บัญชีม้าจะถูกใช้ในการโอนเงินข้ามไปยังบัญชีอื่นหลายต่อหลายครั้งเพื่อปกปิดแหล่งที่มาที่แท้จริงของเงิน   กระบวนการนี้ทำให้ยากต่อการติดตามเงินสดที่ถูกฟอกแล้ว โดยการใช้เทคโนโลยีบอทในการกระจายเงินผ่านหลายบัญชีในระบบอย่างรวดเร็ว

เงินที่ฟอกผ่านคริปโตจะถูกแปลงเป็นเงินบาท เมื่อขายคริปโตใน exchange ในประเทศไทย อาชญากรมักจะใช้การขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในตลาดและถอนเงินบาทออกมา ซึ่งธุรกรรมเหล่านี้ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ เนื่องจากการซื้อขายและการถอนเงินอาจดูเป็นธุรกรรมที่ถูกกฎหมาย

หรือใช้ช่องทางการซื้อขายแบบ Peer-to-Peer (P2P)  หลบเลี่ยงการตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานรัฐหลายแห่งในประเทศไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น USDT (Tether) ในการทำธุรกรรมมากขึ้น โดยข้อมูลจากตลาดชี้ให้เห็นว่า USDT ถูกใช้ในการซื้อขายมากถึง 40% ของตลาด ซึ่งคริปโตประเภทนี้เป็นที่นิยมในการใช้เป็นสื่อกลางในการฟอกเงินเพราะการโอนเงินผ่าน USDT สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากธนาคาร  และมูลค่า USDT  ยังไม่มีการผันผวน 

ชำแหละเส้นทางธุรกิจมืด-สีเทา ฟอกเงินผ่านคริปโต

บล็อกเชน โปร่งใส-ตรวจสอบได้

แม้ว่าอาชญากรจะใช้คริปโตเคอร์เรนซีในการฟอกเงิน แต่บล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รองรับคริปโต ยังถือว่ามีความโปร่งใส   โดยธุรกรรมทุกอย่างถูกบันทึกและสามารถตรวจสอบได้การติดตามเส้นทางเงินผ่านบล็อกเชนจึงทำได้ง่ายกว่าเงินสด โดยหน่วยงานกำกับดูแลสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายสมาคมฯ  ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด  และปฎิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด   พร้อมลงทุนนำเทคโนโลยี AI  และเครื่องมือต่างๆ  เข้ามาตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัย       อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น หน่วยงานกำกับดูแล   ควรกำหนดมาตรฐานและเข้มงวดในการควบคุมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต  เพื่อเป็นแนวปฎิบัติให้กับผู้ประกอบการที่ชัดเจน ไม่ใช่กำหนดมากว้างๆ   ซึ่งผู้ประกอบการไม่รู้ว่าทำมากไป หรือทำน้อยไป    ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการออกมาจัดการกับผู้ประกอบการที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย  

นอกจากนี้ควรนำมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน Anti-Money Laundering (AML) ที่ใช้ในวงการการเงินมาใช้กับคริปโตด้วย    โดยขณะนี้   90 ประเทศทั่วโลก มีการนำมาตรการ  AML  มาใช้กับคริปโตแล้ว รวมถึง การพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยตรวจจับธุรกรรมที่น่าสงสัย และการประสานความร่วมมือกับธนาคารในการเฝ้าระวังบัญชีม้า