ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

12 พ.ย. 2567 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 03:48 น.

ในรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร”  ที่ไม่มีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร แต่รัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญ และสนับสนุนช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ

เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาที่เกษตรขายได้ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบในช่วงเวลาที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน เฉพาะอย่างยิ่งในสินค้า “ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มนํ้ามัน” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย

 

ชะลอขายข้าวเปลือก

เริ่มจาก “ข้าว” ที่เวลานี้ผลผลิตข้าวนาปีของไทยกำลังทยอยออกสู่ตลาด และคาดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว มีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีความต้องการซื้อจากตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

 

ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าปรับตัวลดลง 14 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวสารในประเทศปรับตัวลดลง จากอินเดียยกเลิกภาษีส่งออกข้าวนึ่งและส่งออกโดยไม่จำกัดราคา ส่งผลให้ราคาข้าวโลกปรับตัวลดลง ผู้ส่งออกไทยจึงปรับราคารับซื้อลดลงตามสถานการณ์ตลาดโลกเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อป้องกันข้าวเปลือกของชาวนาราคาตก ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาในการชะลอการขายข้าวเปลือก

 

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

ทั้งนี้นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัจจุบันผลผลิตข้าวของชาวนาเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งทางผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมก็มีความพร้อมที่จะช่วยดูดซับข้าวเปลือก 4 ล้านตัน เก็บสต๊อกขั้นตํ่า 60 วัน รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3%

 

 

สำหรับปี 2566/67 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมฯ จำนวน 204 ราย ใน 45 จังหวัด ปริมาณเก็บสต๊อกสูงสุดในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 2.204 ล้านตันข้าวเปลือก สามารถดูดซับปริมาณข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากคิดเป็น 55.10% ของเป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก

 

ห่วงเกมพลิกซื้อข้าวโพดจบปีเดียว

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

ด้านนายเติมศักดิ์ บุญชื่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือชาวไร่ข้าวโพดเวลานี้ยังเป็นมาตรการเดิม คือมาตรการ 3 : 1 (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ซึ่งเวลานี้ทางกรมการค้าต่างประเทศได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์การขออนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักร สำหรับปี 2568

ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้าสะสมปริมาณการรับซื้อข้าวโพดจากปีก่อนๆ เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ซึ่งมีความเป็นห่วงเกษตรกรที่มีส่วนได้เสียจะเข้าไม่ถึงแบบสำรวจและไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการออกแบบสำรวจดังกล่าว อาจทำให้เสียเปรียบโรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

มันฯ ขอไร่ละ 2 พันเลียนโมเดลข้าว

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

 

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือชาวไร่มันไม่ต่างจากเดิมนัก (อินโฟประกอบ) ทั้งชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง สินเชื่อรวบรวมมันสำปะหลัง มองว่าไม่ตอบโจทย์ชาวไร่นัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่แล้ว บางรายก็อยู่ในโครงการพักชำระหนี้ ก็เข้าร่วมโครงการไม่ได้

ส่วนทางโรงงานแป้งมัน ลานมัน ที่ผ่านมาก็ขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้นปีราคาสูงก็ไล่แย่งซื้อ แต่จากนั้นราคาก็ตกตํ่าทำให้หลายโรงงานมีสต๊อกสินค้าราคาสูง ที่ขายไม่ได้ทำให้มีสินค้าค้างสต๊อกจำนวนมาก และมากดราคารับซื้อเกษตรกร ซึ่งอนาคตในพืช 5 ตัว มันสำปะหลังน่าห่วงที่สุด

“เพื่อความเป็นธรรมทางสมาคมฯ ขอความเห็นใจรัฐบาลให้จ่ายเลียนโมเดลชาวนา โดยขอชดเชยไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อที่จะนำเงินดังกล่าวนี้ไปลงทุนปลูกใหม่ในฤดูหน้า”

 

ยางผิดหวัง สินเชื่อ 3 หมื่นล.เก้อ

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวลงมาในเวลานี้ เป็นการปรับสมดุล และเป็นกลไกตามราคาตลาด เนื่องจากราคาก่อนหน้านี้ปรับขึ้นสูงผิดปกติ ซึ่งจะไปทำให้ราคาสูงอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ เพราะหากทำให้ต้นทุนเพิ่ม 15% กิจการก็ไปไม่ไหว แต่ถ้าในอนาคตหากมีการผลิตยาง EUDR ราคาก็จะปรับขึ้นตามค่าพรีเมียมที่ตกลงกันระหว่างผู้ค้ากับเกษตรกร

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

 

ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมนํ้ายางข้นไทย เผยว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เบื้องต้นทราบว่าจะไม่มีโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้รู้สึกผิดหวัง ไม่ทราบว่าตกหล่นไปได้อย่างไร

 

“ปาล์ม” เคว้ง ราคาตก

ส่องมาตรการช่วยเหลือ 5 สินค้าเกษตร ยุค “แพทองธาร” ใครได้-ใครเสีย

ด้านนายวิโรช เพ็ชรร่วง กรรมการคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตรึงราคานํ้ามันปาล์มขวด ส่งผลให้โรงสกัด โรงกลั่นกดราคารับซื้อปาล์มแล้ว ปัจจุบัน (11 พ.ย.67) เหลือ ราคา 7.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และแนวโน้มราคาจะลงต่อเนื่อง และคาดว่าปลายเดือนนี้ทางกระทรวงพลังงาน ก็จะมีมติปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงมาเหลือบี 5 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาปาล์มนํ้ามันของเกษตรกรตามมา เรื่องนี้ทาง กนป.ยังเงียบว่าจะเอาอย่างไร ขณะที่ชาวสวนภาคใต้เริ่มมีความเคลื่อนไหวกันแล้ว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567