เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ภายใต้การนำของ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธาน กกร. ได้นำคณะเข้าพบและหารือกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะผู้บริหาร ธปท.
รายงานข่าวระบุที่ประชุมได้หารือกันในประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ การเข้าถึงสินเชื่อและภาระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เวลานี้ความสามารถในการแข่งขันลดลง จากการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศจีนที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในทุกช่องทาง กระทบโรงงานผลิตสินค้าไทยปิดตัวลงไปจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยได้ขยายความในการเข้าพบและหารือกับผู้ว่าฯและคณะผู้บริหาร ธปท.ในครั้งนี้ว่า ได้มีการปรึกษาหารือกันถึงสิ่งที่เป็นปัญหา และแนวทางในการแก้ไข การหารือเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ โดยเป็นการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความเห็นกัน 2 ชั่วโมงเต็ม ๆ
“สิ่งที่ กกร.เข้าไปคุยกับท่านผู้ว่าแบงก์ชาติและคณะผู้บริหารของแบงก์ชาติคือ เราเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจและต้องการให้ช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่าง ๆ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และขอให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้พวกเขาสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ เพราะถ้าไม่มีเม็ดเงิน ไม่มีสภาพคล่อง ก็ต้องปิดตัวกันหมด”
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ที่สำคัญคือในกรณีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง (ทรัมป์ 2.0) ว่าจะมีอะไรบ้างที่ไทยควรจะต้องเตรียมรับมือ
ทั้งนี้จากที่ทรัมป์ได้หาเสียงว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี สหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 10-20 % และในกรณีของจีนจะปรับขึ้นภาษีอีก 60% ถึง 100% ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสินค้าจีนไปสหรัฐยากขึ้นจากมีต้นทุนด้านภาษีที่สูงขึ้น สินค้าจีนก็จะไหลบ่ามาทางเอเชีย และอาเซียนซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วยเพิ่มมากขึ้นอีก
จากเดิมสินค้าจีนในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่สหรัฐยังทำสงครามการค้ากับจีนก็มีสินค้าจีนทะลักเข้าไทยจำนวนมากอยู่แล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยอย่างรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
“ในการหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติได้คุยกันถึงการหามาตรการที่เหมาะสม และความเข้มงวดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการที่จะต้องเอาจริงเอาจังในการตรวจตรา ในการกำกับดูแลต่าง ๆ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์มา โอกาสที่สินค้าจีนจะทวนย้อนกลับมาทางฝั่งอาเซียนจะมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เราต้องหามาตรการที่เหมาะสมเหมือนกับประเทศที่อื่น ๆ แต่เราคงจะต้องหลีกเลี่ยงกับการที่จะก่อให้เกิดการทะเลาะ หรือเป็นการทำเกินกว่ากฎเกณฑ์การค้าภายใต้ WTO หรือกฎเกณฑ์ที่สากลมีต่อกัน”
อย่างไรก็ดีในเรื่องกฎเกณฑ์เรื่องมาตรฐานสินค้า สำหรับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือต่ำกว่ามาตรฐานบังคับ เราสามารถทำได้ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เรายังไม่ได้นำมาใช้เต็มที่ก็ต้องเอามาใช้ให้เต็มที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยให้อยู่รอด
ต่อกรณี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.50% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเฟด ณ ปัจจุบันลดลงมาอยู่ 4.50-4.75%
ในเรื่องนี้นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดลงล่าสุด (เมื่อ 16 ต.ค. 2567) 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี หากเป็นไปได้ภาคธุรกิจก็อยากเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อช่วยลดภาระทางการเงิน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ