ข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือนตุลาคมสะท้อนถึงความเปราะบางในหลายภาคส่วน แม้ว่าการบริโภคภายในประเทศจะฟื้นตัว แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงชะลอตัว ซึ่งสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งต้องเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมเติบโตเพียง 5.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ชะลอตัวจาก 5.4% ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 5.6% อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกกลับเพิ่มขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยได้แรงหนุนจากวันหยุดยาวประจำชาติและเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสด
ยอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในช่วงเทศกาลวันคนโสดเพิ่มขึ้นถึง 26.6% คิดเป็นมูลค่า 1.44 ล้านล้านหยวน โดยแคมเปญการค้าขายเริ่มเร็วกว่าปีที่แล้ว 10 วัน ส่งผลให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนตุลาคมพุ่งสูงถึง 39.2% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเก่ากับสินค้าใหม่
แม้ว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมจะลดลง 15.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการลดลง 17.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ทางการจีนยังประกาศมาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับการซื้อขายบ้านและที่ดิน เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด
นักวิเคราะห์มองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงเปราะบาง โดยการลงทุนในภาคนี้ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แม้จะมีมาตรการกระตุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
เงาของสงครามการค้ารอบใหม่สร้างความกดดันให้เศรษฐกิจจีนอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งได้ประกาศแผนที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 60% และแต่งตั้งทีมงานที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน การกลับมาของทรัมป์ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และอาจชะลอการฟื้นตัวที่กำลังเริ่มต้นขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs คาดการณ์ว่าจีนอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมาก และเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 เพื่อลดแรงกระแทกจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและโครงสร้าง
แม้รัฐบาลจีนจะทุ่มเทงบประมาณ 10 ล้านล้านหยวนเพื่อบรรเทาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นและดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 แต่นักวิเคราะห์มองว่าผลกระทบเชิงบวกจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น และเศรษฐกิจจีนอาจกลับมาชะลอตัวอีกครั้งในครึ่งหลังของปีหน้า
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกและการลงทุนยังเผชิญความท้าทาย การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว และเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลปักกิ่งต้องเผชิญในปีหน้า