นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ (19 พ.ย.67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบปรับราคากลางนมโรงเรียน 46 สตางค์ ตามการเรียกร้องของชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรเกษตรหลักตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อนเข้าขั้นวิกฤติของโรงงานแปรรูปทั้งสหกรณ์และเอกชนในการซื้อนมดิบราคาเพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้แบกภาระค่าน้ำนมดิบมาเป็นระยะเวลา 11 เดือน
"สำหรับการปรับราคากลาง ตามมติ ครม. เห็นชอบ จะทำให้ราคากลางนมโรงเรียนปรับเพิ่มขึ้น 46 สตางค์ อาทิ นมพาสเจอร์ไรส์ ราคา 7.35 บาท/ถุง และ นม ยู เอชที ราคาปรับเป็น 8.59 บาท/กล่อง ซึ่งการปรับในครั้งนี้ต้องรอลุ้นว่าจะมีผลย้อนหลัง 11 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องรอฟังข่าวดีจากรัฐบาล"
“ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ดูแลเกษตรกรทุกสาขาอาชีพ ก็เห็นใจ โดยเฉพาะผมเป็นประธานชุมนุมฯ มาก่อน ก็เข้าใจเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นอย่างดี เมื่อมติ ครม.เห็นชอบแล้ว ต่อไปจะทำให้อาชีพพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความมั่นคงและยังให้เด็ก ๆ ได้ดื่มนมโค 100% ที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เห็นด้วยกับการปรับราคาน้ำนมดิบในครั้งนี้”
อนึ่ง สำหรับในปี 2566/67 มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายนํ้านมโค ที่ผู้ซื้อและผู้ขายลงนามระหว่างกัน ปริมาณนมรวม 2,983.013 ตันต่อวัน และมีคู่ MOU จำนวน 429 คู่ รวมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม 126 แห่ง แยกตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.นมผงขาดมันเนย ปริมาณนํ้านม 863.955 ตันต่อวัน 2. ครีม ปริมาณนม 35.438 ตันต่อวัน 3.นมโรงเรียน ปริมาณ 2,064.730 ตันต่อวัน และอื่น ๆ 18.890 ตันต่อวัน