กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมนมในประเทศ ด้านการผลิต คาดปริมาณ นํ้านมดิบปี 2567 ทั้งหมด 1,079 พันตัน มูลค่า 22,660 ล้านบาท ส่วนปริมาณนํ้ามดิบที่มีเอ็มโอยู ( MOU) ระหว่างผู้เลี้ยงกับผู้ประกอบการปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ย.67) ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด จำนวน 2,983 ตัน/วัน หรือ ประมาณ 1,088.80 พันตัน/ปี
อย่างไรก็ดีจากผลการสำรวจพบน้ำนมโคไตรมาส 2 /2567 มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2566 ร้อยละ 1.89 เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณอาหารหยาบไม่เพียงพอ และราคาอาหารข้นที่ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการให้อาหารแก่แม่โครีดนม และยังมีการเลิกเลี้ยงในบางพื้นที่ เนื่องจากรายย่อยประสบปัญหาขาดทุน และเกษตรกรบางรายอายุมาก ส่งผลทำให้นํ้านมดิบขาดตลาด
แหล่งข่าวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมโคนมในประเทศเวลานี้ประสบปัญหา 2 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาเรื่องโรคระบาด ลัมปีสกินและโรคปากเท้าเปื่อย และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ม ส่งผลเกษตรกรส่วนหนึ่งเลิกเลี้ยงโคนม ส่งผลนํ้านมดิบในประเทศไทยวันละ 3,300-3,400 ตัน/วัน ปรับเหลือแค่ 2,818 ตัน/วัน ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 16,500 ราย (เม.ย. 67) เปรียบเทียบกับปี 2564 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 3.3 ล้านราย ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้ร้องเรียนขอปรับขึ้นราคานํ้านมดิบ
โดยมีเกษตรกร 2 ประเภท 1.เกษตรกรตัวจริง คือ คนเลี้ยงโคนมทั่วไปที่อยากให้ปรับขึ้นทันที 2. เกษตรกรตัวแทนที่ไปยื่นหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ที่มีผู้ประกอบการ 109 โรง ก็อยากจะผูกเรื่องไปด้วยกัน แต่สุดท้ายเกษตรกรตัวจริงทนไม่ไหวจึงได้แยกร้องเรียนส่งผลให้มีการปรับขึ้นราคาเริ่มวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยอำนาจของมิลค์บอร์ดสามารถประกาศราคา ลงนามโดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ประกาศราคารับซื้อนํ้านมดิบอีก 2.25 บาท/กก. เป็น 22.75 บาท/กก. ส่วนในฝั่งนมพาณิชย์ ต้องไปขอปรับราคากับกรมการค้าภายใน ซึ่งทางกรมก็ให้ขึ้นเฉพาะค่าต้นทุนนํ้านมดิบตามต้นทุนที่แท้จริง
“ส่วนราคากลางนมโรงเรียนยังไม่ได้ถูกปรับราคา ส่งผลให้สหกรณ์ และเอกชนที่เข้าร่วมโครงการร้องเรียน เพราะขาดทุนรายวัน ซึ่งตอนแรกทุกคนที่หวังว่าจะได้ทั้งสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นและได้ปรับราคาด้วย แต่ปรากฏพอได้สิทธิ์ แต่ไม่ได้ปรับราคา แล้วมาร้องว่าขาดทุน ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อขาดทุนแต่ทำไมแย่งกันเข้าร่วมโครงการ แสดงว่ายังมีกำไรใช่หรือไม่”
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ไทยต้องลดภาษีเป็น 0% สำหรับการนำเข้านมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) พยากรณ์ว่า ในอนาคตนํ้านมดิบในส่วนนมโรงเรียนจะมีปัญหาจากราคากลางนมไม่ปรับขึ้น คาดจะทำให้ผู้ประกอบการนมโรงเรียนผลักดันนํ้านมดิบออกมา และจะทำให้ระบบนํ้านมพาณิชย์ล้นตลาด และต้องรีเซ็ต ความตกลงเอ็มโอยูใหม่ ตามที่จะทำความตกลงกันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจเอาคืนเกษตรกรโดยไม่รับซื้อ จากปีที่แล้วมีเกษตรกรไม่ขายนํ้านมดิบให้
แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างโครงการช่วยเหลือองค์กรเกษตรกรโคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการด้านอาหารสัตว์ 3,000 ล้านบาท และสมทบค่านํ้านมดิบเป็นระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ในที่ประชุม และเสนอโครงการฯให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อเสนอของบกลางต่อไป