ข้อความระบุ “แม้วันนี้จะไม่มีคุณพ่ออยู่เคียงข้าง แต่คุณพ่อจะอยู่ในหัวใจของลูกตลอดไป คิดถึงคุณพ่อทุกวินาที รักมากที่สุด” ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของครอบครัว “โชติเทวัญ”ที่ต้องสูญเสียเสาหลักไปอย่างไม่มีวันกลับ
สำหรับ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ มีประวัติอันน่าทึ่ง โดยเริ่มต้นจากการทำงานในกรมแพทย์ทหารเรือ เป็นเวลา 11 ปี ตามด้วยการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 12 ปี มีประสบการณ์ที่กว้างขวาง เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและรักษาโรค
หลังจากอุทิศตนรับราชการมาเป็นเวลากว่า 23 ปี ดร.ปัญญา ได้เริ่มต้นเส้นทางใหม่ โดยก่อตั้งสหฟาร์มขึ้นในปีพ.ศ. 2512 ด้วยการเลี้ยงไก่เพียง 500 ตัวต่อวัน แต่ด้วยปณิธานและความมุ่งมั่นในการจัดหาอาหารเพื่อมนุษยชาตินำพาสหฟาร์มเติบใหญ่ จนกลายเป็นผู้ส่งออกไก่สดแช่แข็ง อันดับต้น ๆ ของประเทศมาหลายทศวรรษ ล่าสุดในปี 2566 สหฟาร์มถือเป็นผู้นำด้านการส่งออกไก่สดอันดับ 1 ของประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 สหฟาร์มได้ประกาศข่าวดีรับปี 2567 ผ่านงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบอายุ 93 ปี ของดร. ปัญญา โชติเทวัญ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ โชว์ผลประกอบการในปีที่ผ่านมา สามารถทำยอดส่งออกได้ถึง 170,000 ตัน จากปี 2566 ส่งออกได้ 110,000 ตัน ซึ่ง ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ประธานคณะบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัทในเครือ ตั้งเป้าหมายยอดขายในปี 2567 จะเติบโตจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10%
ปัจจุบันอาณาจักรของสหฟาร์ม มีเนื้อที่รวมกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งนอกจากมีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่มีมาตรฐานระดับโลกแล้ว ยังมีโรงงานแปรรูป โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ครบวงจร มีที่ตั้งสำคัญทางธุรกิจอยู่ที่จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ กรุงเทพ ชลบุรี และจังหวัดอื่น ๆ และมีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดีเส้นทางของสหฟาร์มกว่าจะมาถึง ณ วันนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ระหว่างทางเดินต้องเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ โดยเมื่อกลางปี 2555 ได้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากมีปัญหาสะสม ที่เกิดจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่มีการขยายธุรกิจเกินตัว
ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในปี 2557 ภายใต้มูลหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท โดยเป็นของสหฟาร์มกว่า 10,353 ล้านบาท และเป็นของบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออีกกว่า 10,435 ล้านบาท มีธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 มีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน
จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริษัท สหฟาร์ม จำกัด หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของสหฟาร์มที่มารับไม้ต่อจาก ดร.ปัญญา เผยว่า สหฟาร์มได้ออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 และ ดร.ปัญญา ซีอีโอ ของบริษัทได้กลับมาบริหารงานเมื่อวันที่ 9 กันยายนในปีเดียวกัน โดยได้เข้ามาปรับโครงสร้างหลายอย่างและสั่งหน้าขับเคลื่อนธุรกิจต่อ
การกลับมารันธุรกิจอีกครั้งของครอบครัวโชติเทวัญ ทำให้ธุรกิจของสหฟาร์มกลับมาแข็งแกร่ง และขึ้นบัลลังก์อันดับ 1 ของผู้ผลิตและส่งออกไก่สดแช่แข็งได้เป็นผลสำเร็จอีกครั้ง โดยในปี 2566 ล่าสุด สามารถทำยอดส่งออกได้เกือบ 20,000 ล้านบาท และทำยอดขายในประเทศได้ราว 10,000 ล้านบาท โดยในแง่ปริมาณการขายในประเทศมีสัดส่วน 70% และส่งออกมีสัดส่วน 30% แต่ในด้านมูลค่าการส่งออกตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนกว่า 60% และอีก 40% เป็นมูลค่าการขายในประเทศ
ปัจจุบันสหฟาร์ม ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ จากรุ่นบุกเบิกคือ ดร.ปัญญา-ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ผู้ก่อตั้งบริษัท มาสู่ทายาทรุ่นลูก ที่ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 350,000-500,000 ตันต่อปี ซึ่งนอกจากจารุวรรณ โชติเทวัญ บุตรสาวคนเดียว ของดร.ปัญญา กับ ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ที่เข้ามารับตำแหน่ง ประธานสายบัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหารบริษัท สหฟาร์ม จำกัด แล้ว ปัจจุบันยังทำหน้าที่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายบริหาร บริษัท สหฟาร์มอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งดูแลการตลาดต่างประเทศ ร่วมกับพี่ชาย และน้องชายทั้ง 4 คนที่แยกย้ายกันไปรับผิดชอบหน้าที่ตามความถนัด รวมถึงพี่น้องต่างมารดาที่เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจรวมกว่าสิบชีวิต
“จารุวรรณ” กล่าวว่า แม้จะออกมาจากแผนฟื้นฟูแล้ว สหฟาร์มยังต้องชำระหนี้ตามแผน และยังไม่ได้เพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ มากนัก แต่เน้นการเพิ่มรายได้โดยพัฒนาศักยภาพการส่งออกให้ได้มากที่สุด โดยเน้นไปที่คุณภาพ มาตรฐานสินค้า และการให้บริการ และที่สำคัญคือการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า
ขณะที่บุญญาลักษณ์ โชติเทวัญ กรรมการ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด กล่าวว่า หลังจากสหฟาร์มมีปัญหาการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับโครงสร้างและเริ่มฟื้นฟูกิจการใหม่ทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายธุรกิจนับจากนี้ ผลผลิตที่ได้จะส่งออก 100% ตามแผน 5 ปี (2565-2570) โดยปี 2565 ที่ออกจากแผนฟื้นฟูตั้งเป้าหมายว่าจะต้องกลับเข้ามายืนในวงการได้อีกครั้ง และในปี 2566 -2570 ต้องเดินหน้ากำหนดอัตราการเติบโตไว้ที่ 10% ต่อปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งบันไดขั้นแรกคือการกลับมายืนในวงการได้อีกครั้งสามารถทำได้แล้ว ส่วนก้าวต่อไปยังมีความท้าทาย
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2565 หลังจากสหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทมีรายได้รวม 27,135.65 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 24,244.58 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,197.83 ล้านบาท และในปี 2566 มีรายได้รวม 28,898.28 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 28,065.97 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 568.88 ล้านบาท
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย ดร.ปัญญา โชติเทวัญ, นายวุฒิ โชติเทวัญ,นายคุณภัส โชติเทวัญ และนางสาวบุญญาลักษณ์ โชติเทวัญ โดยกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันคือ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือนายคุณภัส โชติเทวัญ นางสาวบุญญาลักษณ์ โชติเทวัญ สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท
เส้นทางของสหฟาร์มนับจากนี้ ในวันที่สิ้น ดร. ปัญญา โชติเทวัญ เสาหลักของของบ้าน อาณาจักรหมื่นล้านนี้ จะไปต่ออย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และจะกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ น่าติดตามอย่างยิ่ง