ส่งออกปี 67 ลุ้นโต 3% ปี 68 มั่นใจยังเป็นบวก “ทรัมป์” ชี้เป็นชี้ตาย

21 พ.ย. 2567 | 21:26 น.

สภาพัฒน์ฯ เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ 3% สูงกว่าที่ตลาดคาดจะโต 2.4-2.7% ส่วนทั้งปี 2567 คาดจะขยายตัวได้ 2.6% และปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3- 3.3% ขณะที่ภาคการส่งออก เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย ช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวที่ 3.9%

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นเพราะอะไร ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศที่ถาโถมเข้ามา ทั้งสงครามการค้า สงครามจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ค่าเงินบาทผันผวน ต้นทุนการผลิตสูง และต้องแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน และสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียน และทิศทางแนวโน้มส่งออกปี 2568 จะเป็นอย่างไร “นายชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ให้สัมภาษณ์ และวิเคราะห์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ กล่าวว่า การส่งออกไทยที่ยังขยายตัวได้ดีเกินคาดช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีส่วนสำคัญจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรพิมพ์ (PCB) แผงวงจรไฟฟ้า ยางล้อรถยนต์รวมถึงกลุ่มสินค้าในหมวดอาหาร เช่น อาหารกระป๋อง สินค้าข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์ ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่สินค้ารถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ตัวเลขยังติดลบจากสภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และความเชื่อมั่นในตลาดตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และตลาดอื่น ๆ ยังไม่ดี

ลุ้นตัวเลขทั้งปีโต 3%

“จากตัวเลขส่งออกที่ขยายตัว 3.9% หากถามว่าช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ยังมั่นใจสูงว่า ตัวเลขการส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวเกิน 2% แน่นอน ซึ่งตอนนี้มองไปที่ 2.5% ถึง 3% ซึ่งต้องรอลุ้น โดยทั้งปีนี้คาดการณ์คร่าว ๆ ตัวเลขส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐน่าจะได้ถึง 293,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566 ทำได้ 285,074 ล้านดอลลาร์) และในรูปเงินบาทมองไว้ที่ 10 ล้านล้านบาท (ปี 2566 ทำได้ 9.82 ล้านล้านบาท)”

ส่งออกปี 67 ลุ้นโต 3% ปี 68 มั่นใจยังเป็นบวก “ทรัมป์” ชี้เป็นชี้ตาย

กรณีเวลานี้เงินบาทได้อ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือไม่นั้น

นายชัยชาญ กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในเวลานี้ ไม่มีผลต่อการเจรจาต่อรองราคาสินค้าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มากนัก เพราะส่วนใหญ่กว่า 90% ผู้ส่งออกไทยได้รับคำสั่งซื้อไปแล้ว และอยู่ระหว่างการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่การอ่อนค่าจะมีผลในเรื่องของการขาดทุน หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกเท่านั้น

ขณะเดียวกันการเจรจาเพื่อสั่งซื้อสินค้าสำหรับส่งมอบในต้นปีหน้า โดยปกติจะเริ่มในเดือนธันวาคม ซึ่งค่าเงินบาทจะมีส่วนสำคัญในการเจรจาต่อรองเพื่อสั่งซื้อสินค้าในรอบใหม่ ผู้ส่งออกหวังว่ารัฐบาลจะช่วยดูแลทำให้ค่าเงินบาทมีความเสถียรเพื่อให้ง่ายต่อการตั้งราคาสินค้า และการเจรจาต่อรอง

“ทรัมป์” ป่วนส่งออกปี 68

สำหรับทิศทางการส่งออกในปี 2568 ประธาน สรท.ยังมองทิศทางยังขยายตัวเป็นบวก แต่จะขยายตัวได้ในอัตราเท่าใดนั้น ยังคงต้องรอการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางสถานการณ์การค้าโลก โดยพิจารณาจากปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่า งๆ เพื่อตั้งเป้าหมายการส่งออกร่วมกันต่อไป

ในเบื้องต้นปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่ต้องจับตาคือ นโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่ประกาศนโยบายในการหาเสียงจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% และสินค้าจากประเทศอื่น ๆ 10-20% ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการค้าโลก เฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐ รวมถึงไทยที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ยังสามารถคาดเดาได้ยากว่า เมื่อทรัมป์เข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไร

ตั้งรับกระจายความเสี่ยง

“ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ผมมั่นใจการขึ้นภาษีเขาทำได้ แต่คงจะทำเป็นแบบเชิงกลยุทธ์สำหรับคู่ค้าแต่ละประเทศ และเจรจาต่อรองเป็นรายกลุ่มสินค้า เป็นรายกลุ่มประเทศ สรุปคือเขาทำแน่ เพราะเป็นนโยบายหาเสียงของเขา ดังนั้นต้องขีดเส้นใต้ว่า เราจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่รุมเร้ามากขึ้นในทุกมิติ และคาดการณ์ได้ยาก เวลานี้สงครามการค้าในยกที่ 2 ที่ทรัมป์จะเข้ามา ทั่วโลกก็กังวล ไทยก็กังวล”

ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้คือ ประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐจะต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตร และสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนสินค้าในการส่งออก-นำเข้าระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการหาตลาดร่วมกัน ขณะที่ประเทศไทยต้องสร้างสมดุลทางด้านการค้า และการเมืองกับทั้งสหรัฐ และจีน เพื่อให้สินค้าไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของทั้งสองประเทศ รวมถึงการย้าย หรือขยายฐานการผลิตของนักลงทุนสหรัฐ และจีน เช่นไปตั้งฐานที่เวียดนาม หรืออินเดีย เราจะไปเชื่อมโยงกับเขาอย่างไร

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567