ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน และมีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหา และพร้อมรับนโยบายรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่การเกษตรโดยมุ่งเน้นการวางแนวทางให้ชัดเจน และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีพื้นที่การเกษตรเป็นเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการ รวมถึงการเตรียมรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก และการบริหารจัดการในพื้นที่การเกษตรต้องคำนึงถึงการรองรับการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันนี้ (29พ.ย.67) ที่ประชุม ครม.สัญจร เชียงใหม่ เห็นชอบและรับทราบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ทาง ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรให้คำแนะนำเกษตรกรและให้ความรู้การแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ร่วมกับภาคเอกชน / หน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร และแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน แลเพื่อลดผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติโดยเครือข่ายเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คือ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ภายใต้ “โมเดล 3R”
ประกอบด้วย
1. Re-Habit: การเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยการส่งเสริมวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เผา ซึ่งเป็นการสนับสนุนการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเศษซากพืชในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเผา นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP (Good Agricultural Practices) สำหรับการทำเกษตรกรรมที่ปลอด PM 2.5
2. Replace with High-Value Crops: ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบดั้งเดิมไปสู่การปลูกพืชทางเลือกที่ให้กำไรสูงกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่สูง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจากพืชที่ปลูกในนาไปเป็นต้นไม้ผล พืชอายุยืน หรือพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น อะโวคาโด แมคคาดาเมีย และแม้กระทั่งพืชที่เติบโตเร็ว วิธีการนี้ไม่เพียงป้องกันการเผา แต่ยังเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
3.Replace with Alternate Crops: สำหรับพื้นที่ต่ำ และนอกเขตชลประทาน โมเดลนี้สนับสนุนการเปลี่ยนพืชที่เสี่ยงต่อการเผา เช่น ข้าวนอกฤดูไปเป็นพืชที่ต้องการ การจัดการเศษซากพืชด้วยการเผาที่น้อยกว่า ได้แก่ ข้าวโพด หรือ พืชตระกูลถั่ว แนวทางนี้เน้นการจัดการเศษซากพืชที่ดีขึ้นโดยเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าซึ่งจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินและเสริมสร้างความยั่งยืน
สำหรับการเผาในภาคการเกษตรยังคงเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไป ที่เกษตรกรไทยเลือกใช้จัดการเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟาง ตอ และแกลบ เนื่องจากเป็นวิธีที่รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรบางคนยังเชื่อว่าการเผาสามารถช่วยควบคุมศัตรูพืชและโรคพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และช่วยในการเตรียมพื้นที่สำหรับรอบการเพาะปลูกถัดไป
อย่างไรก็ตาม วิธีปฏิบัตินี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สำคัญจากผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลกระทบจากการเผาในภาคการเกษตรมีความรุนแรง โดยส่งผลต่อมลพิษทางอากาศและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ปล่อยออกมาขณะเผาสามารถก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ และหัวใจ และนำไปสู่อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของผู้คน นอกจากนี้ มลพิษนี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะเดียวกัน การเผาเศษซากพืชจากการเกษตรยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกร เศษซากพืช เช่น ฟางข้าว และเศษซากพืชจากอ้อย หรือข้าวโพด สามารถนำมาใช้เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในโครงการพลังงานชีวมวล หรือการผลิตผลผลิตอื่น ๆ อีกด้วย
“ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้ขยายผล ไปสู่ ขยายผล 3R สู่ ING Model ผลิตพืชคาร์บอนต่ำ ได้แก่ ใช้พันธุ์ดี พัฒนาสด้วยเทคนิคจีโนม เพราะให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคทนสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดแรงงาน เช่น เครื่องจักร โดรน แล้วใช้การจัดการน้ำ ปุ๋ยตามวิเคราะห์ดินและพืช แม่นยำและเหมาะสม จะส่งผลให้ยกระดับการผลิตพืช เข้าสู่มาตรฐาน GAP , PM 2.5 Free ส่งผลดีในการลดใช้สารเคมี เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อสู่เกษตรยั่งยืน โดยเป็นการต่อยอด จาก 3E” นายรพีภัทร์ กล่าวว่าย้ำในตอนท้าย