“ทรัมป์” ป่วน ศก.-ค้าโลกปี 68 สภาอุตฯผวาสินค้าจีนท่วมตลาด ค่าแรง 400 ทุบซ้ำ

06 ธ.ค. 2567 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 07:21 น.

เอกชนตั้งรับ “ทรัมป์ 2.0” ป่วนเศรษฐกิจ การค้าโลก ขึ้นภาษีสูงบีบสินค้าจีนไหลบ่าถล่มตลาดอาเซียน-ไทยเพิ่มเท่าทวีคูณจากปี 67 สภาอุตฯผวาเอาไม่อยู่ ลามกระทบเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 35 กลุ่มอุตสาหกรรม ระบุลดค่าไฟน้อย-จ่อขึ้นค่าแรง 400 บาททุบซํ้า เพิ่มต้นทุน ตัวเร่งปิดตัว

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจ การค้าโลก แม้จะยังไม่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง 20 ม.ค. 2568) แต่ได้สร้างสีสันคำขู่ ผ่านโซเชียลรายวัน ดังก้องไปทั่วโลกว่าพร้อมจะดำเนินในหลายมาตรการ เพื่อขับเคลื่อน Make America Great Again

โดยในด้านการค้า ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศ 10-20%, ขึ้นภาษีสินค้าจีนทุกชนิด 10% (ก่อนหน้านี้ระบุจะปรับขึ้น 60-100%), ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก และแคนาดา 25% จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกลุ่ม BRICS 100% เป็นต้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่มีการค้าขายกับสหรัฐได้เฝ้าจับตาและติดตามว่า หลังโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2568 แล้ว นโยบายหรือคำขู่ที่ประกาศก่อนหน้านี้ จะเอาจริงเอาจังระดับไหน และจะส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหน แต่ในเบื้องต้นเพื่อความไม่ประมาท คาดการณ์ว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายหรือมาตรการตามที่ประกาศไว้แน่นอน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดีจากที่ทรัมป์ได้ออกมาขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากกลุ่ม BRICS (จีน รัสเซีย บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 100% หากมีการสร้างเงินสกุลใหม่มาแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการค้าขายระหว่างกันเองในกลุ่ม เรื่องนี้ทุกอย่างก็มีความเป็นไปได้ และต้องจับตาต่อไป

“ที่แน่ ๆ คือหากทรัมป์มา สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สหรัฐ-จีน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้าทั้งหลายที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดนแน่ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าของทุกประเทศ แต่ที่ต้องแลกกัน และอาจเป็นความสบายใจของโลกคืออุณหภูมิสงครามที่สู้รบกันด้วยอาวุธจริง โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในยุคทรัมป์น่าจะเบาบางลง”

สำหรับผลพวงที่จะตามมาจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่ จะส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจีนไม่มีนโยบายปรับลดกำลังการผลิตสินค้า หากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจน หรือมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ก็เป็นที่หวั่นเกรงว่า จะยิ่งทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาซํ้าเติมเป็นเท่าทวีคูณ จนทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยได้รับผลกระทบหนักมากกว่าในปี 2567

“ทรัมป์” ป่วน ศก.-ค้าโลกปี 68 สภาอุตฯผวาสินค้าจีนท่วมตลาด ค่าแรง 400 ทุบซ้ำ

ทั้งนี้หากในปี 2568 ภาคการส่งออกไทยไม่ขยายตัวมาก และเศรษฐกิจยังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวเพียงอย่างเดียว โดยปีหน้าคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 40 ล้านคน(เป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด) จะทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทย ในปี 2568 มีโอกาสไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหมายไว้ว่า จะขยายตัวมากกว่า 3% และจะทำให้เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความยากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเวลานี้กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ

ขณะที่เวลานี้ ผลพวงจากมีสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามาแข่งขันตลาดในประเทศเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยแล้วใน 25 กลุ่ม จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท. หากเอาไม่อยู่ปีหน้าอาจจะลามไปถึง 35 กลุ่มอุตสาหกรรม

“ทิศทางในปีหน้า ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับภาระค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่าที่จะปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน และล่าสุดรัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 68) ลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงเพียง 3 สตางค์ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ แค่ช่วยให้สบายใจขึ้นนิดนึงเท่านั้น ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่ได้ช่วยอะไรทางด้านการลดต้นทุนการผลิตเลย”

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,051 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567