สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. /ทูตพาณิชย์) ณ เมืองฮ่องกง รายงาน โดยอ้างอิงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ที่เปิดเผยว่า แผนการของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของฮ่องกง
ขณะที่ผู้นำอุตสาหกรรมและนักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นว่า แผนการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของโดนัลด์ ทรัมป์ คาดจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตฮ่องกงที่ตั้งฐานการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่หันไปสู่ตลาดใหม่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของฮ่องกงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มนักธุรกิจฮ่องกงกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ภาคการผลิตในฮ่องกงได้ปรับตัวรับมือสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมาตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในปี 2018
ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% รวมถึงเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากแคนาดาและเม็กซิโก นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเคยขู่ว่าจะบังคับใช้ภาษีแบบครอบคลุม 60% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด
Mr. Wingco Lo Kam-wing, President of the Chinese Manufacturers’ Association of Hong Kong ยอมรับว่าการเพิ่มภาษีครั้งใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในฮ่องกง เนื่องจากตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ถือเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
“เราเริ่มเห็นคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ บางทีคู่ค้าของเราก็กังวลเรื่องการขึ้นภาษีเช่นกัน เราได้เตรียมพร้อมตั้งแต่สงครามการค้าเมื่อไม่กี่ปีก่อน โดยได้ตั้งโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้แล้ว ทั้งนี้หากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก ธุรกิจฮ่องกงจำเป็นต้องพิจารณาเจาะตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา”
อย่างไรก็ดี สคต. ณ เมืองฮ่องกง ให้ความเห็นว่า นโยบายการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อฮ่องกงในด้านการส่งออก การค้าระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐอาจลดลง ขณะเดียวกันก็จะเกิดโอกาสอื่น ๆ จากนโยบายนี้ ขณะที่ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงยังคงยึดแนวทางรักษาสถานะ ศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากนานาชาติ พร้อมทั้งสร้างกลยุทธ์ด้วยการร่วมมือกันพัฒนาในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ผู้ผลิตในจีนและฮ่องกงได้ดำเนินการสำรวจตลาดใหม่ วางแผนการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิต ตั้งโรงงานในประเทศอาเซียน สำหรับประเทศไทยนั้นมีความพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและให้ความร่วมมือเปิดรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Supply Chain ระดับโลก
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 3 (รองจากสิงคโปร์ และจีน) ที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 117 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 68,203 ล้านบาท