ทั้งนี้ตามกฎหมายการค้าข้าวในปัจจุบัน ยังบังคับให้ผู้ค้าต้องขอใบอนุญาตประกอบการค้าข้าว ต้องมีที่เก็บ และต้องมีสต๊อกข้าว 500 ตัน เป็นเหตุผลทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอียากที่จะทำการค้าข้าว หรือทำการส่งออกได้เอง ซึ่งรัฐบาลประกาศจะปลดล็อกในเรื่องดังกล่าว
ในมุมของผู้ส่งออกข้าวมองเรื่องนี้อย่างไร ที่ผ่านมาการส่งออกข้าวมีทุนผูกขาดจริงหรือไม่ และทิศทางแนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2568 ที่จะมาถึงจะเป็นอย่างไร “นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างชัดเจน
นายชูเกียรติ กล่าวว่า การผูกขาดในธุรกิจค้าข้าวของไทย ไม่มีอยู่จริง เพราะปัจจุบันการค้าข้าวเป็นระบบการค้าเสรี เฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในปัจจุบันก็มีถึง 170 ราย และที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ มีอีก 40-50 ราย การส่งออกข้าวของไทยไม่ได้จำกัด หรือมีข้อบังคับว่าต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หรือสมาคมการค้าใดการค้าหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการโรงสีข้าว และผู้ประกอบการข้าวถุงที่มีศักยภาพก็ผันตัวเป็นผู้ส่งออกข้าวอีกส่วนหนึ่ง
“เรื่องการส่งออกข้าวไม่มีการผูกขาดอะไร เพราะเป็นการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์มานานแล้ว และมีผู้ประกอบการเป็นร้อย ๆ ราย ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ซึ่งราคาข้าวจะขึ้นจะลงอยู่ที่ดีมานต์ และซัพพลาย และไทยก็ไม่ใช่ผู้ส่งออกรายเดียวในโลก ซึ่งนอกจากต้องแข่งกันเองกับผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ยังต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เรื่องนี้คงมีคนให้ข้อมูลท่านนายกรัฐมนตรีคลาดเคลื่อน”นายชูเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกข้าว เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการสต๊อกข้าวลงจาก 500 ตัน รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตการส่งออกข้าว เช่น จากปีละ 5 หมื่นบาท เหลือ 2 หมื่นบาท ซึ่งผู้ส่งออกเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศลดค่าธรรมเนียมลงมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
ทั้งนี้เห็นด้วยหากมีการแก้กฎหมายเพื่อลดสต๊อกข้าวลงจาก 500 ตัน และปรับลดค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตส่งออกข้าวลง จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ และจะช่วยให้เกษตรกร กลุ่มเกษตร หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถและโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้เองมากขึ้น สร้างการแข่งขันมากขึ้น เรื่องนี้เห็นด้วยกับรัฐบาล
อย่างไรก็ตามในข้อเท็จจริงการที่เกษตรกร หรือเอสเอ็มอีจะมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการส่งออก หรือการค้าขายกับต่างประเทศในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเดิม อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจที่ค้าขายกันมานาน ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ มีสินค้าคุณภาพมาตรฐานที่พร้อมส่ง และส่งมอบตรงเวลา
นอกจากนี้ต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในต่างประเทศ และค่าเงินบาทที่ผันผวนยังมีผลต่อกำไร-ขาดทุน หากเกษตรกร หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมุ่งหวังให้รัฐบาลช่วยหาออร์เดอร์ให้ เช่น การค้าแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ เพราะต้องมีการรวบรวมข้าวที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ลูกค้ากำหนด ปริมาณต้องได้ตามเป้าหมาย ส่งมอบตรงเวลา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
“ความถนัดของแต่ละภาคส่วนไม่เหมือนกัน ชาวนาหรือเกษตรกรก็ถนัดในการผลิตข้าว โรงสีที่มีอยู่เป็นพันโรงทั่วประเทศก็ทำหน้าที่ซื้อข้าวเปลือกมาสีแปรให้ผู้ส่งออก บางรายก็ทำข้าวถุงขายเอง เป็นผู้ส่งออกเอง ซึ่งผู้ส่งออกก็ต้องไปแข่งขันกับต่างประเทศ”
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ในปี 2567 คาดไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 10 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้รับอานิสงส์จากอินเดียคู่แข่งสำคัญแบนการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวมาเกือบ 2 ปี จากก่อนหน้านี้อินเดียส่งออกข้าวขาวได้ปีละประมาณ 5-6 ล้านตัน ซึ่งจากอินเดียไม่ได้ส่งออก ไทยได้อานิสงส์ส่งออกข้าวขาวทดแทนอินเดียในตลาดโลกได้ประมาณ 2 ล้านตัน เวียดนามได้ไปประมาณ 2 ล้านตัน ปากีสถานได้ประมาณ 1 ล้านตันเป็นต้น ที่เหลือเป็นผู้ส่งออกจากประเทศอื่น ๆ
ล่าสุดอินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวอีกครั้ง ซึ่งปกติราคาข้าวขาว 5% ของอินเดียจะขายถูกกว่าไทย โดยล่าสุดข้าวขาวอินเดียตั้งราคาขายเฉลี่ยที่ 440 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนของไทยอยู่ที่ 510 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากราคาที่ต่างกัน คาดอานิสงส์ส่วนเพิ่มที่ไทยส่งออกทดแทนอินเดีย 2 ล้านตัน ในปีหน้าปริมาณข้าวส่วนนี้จะหายไป
ส่วนอีกปัจจับลบคือ ตลาดข้าวในอินโดนีเซีย ที่เคยนำเข้าก่อนหน้านี้ประมาณปีละ 4 ล้านตัน ในปี 2568 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พยากรณ์ว่าอินโดนีเซียจะมีการนำเข้าเพียง 1.5 ล้านตัน เนื่องจากนํ้าท่าในปีนี้ดีขึ้น ทำให้อินโดนีเซียมีนํ้าทำนา และจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,054 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567