นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนได้มีการหารือถึงทิศทางแนวโน้ม โดยคาดการส่งออกไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ 2-3%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นโยบายของทรัมป์ 2.0 ได้ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจไทยจะหายไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหากสินค้าไทยถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 10-20% จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าไทย
เบื้องต้นผลกระทบทางตรงจะกระทบต่อการส่งออกไทย ลดลง 1.03% กระทบต่อ GDP ลดลง 0.59% และทางอ้อม จะมีผลกระทบต่อการส่งออกวัตถุดิบ ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าไทยอย่างมาก ทั้งในตลาดสหรัฐและจีน
“อย่างไรก็ดี หอการค้าฯ มองว่าโลกยังคงมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ และเห็นถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคของเรา เป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้สำหรับประเทศไทยที่ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะไม่ใช่ แค่ win-win แต่จะเป็น All win Situation”
สำหรับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ประเทศไทยต้องวางตัวเป็นกลาง และควรต้องขยายการค้าโดย Connect กับประเทศอินเดีย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เพราะอินเดียเป็น Strategic Country ที่เชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมผลประโยชน์จากจีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสของไทย หรือแม้แต่การเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งไปพร้อม ๆ กับเพื่อนบ้าน
นายสนั่น ยังได้ขยายความ กรณีสินค้าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 10-20% และไทยอยู่ในลำดับที่ 12 ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ อาจถูกตอบโต้หรือต่อรองทางการค้ามากขึ้นว่า ในมุมมองของหอการค้าฯ รัฐบาลควรมีแนวทางและแผนเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
มาตรการป้องกันผลกระทบ (เชิงรับ) ประเทศไทยต้องกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก โดยขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าเกษตรกรรมแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้ากลุ่มเดียวกับที่สหรัฐฯ อาจใช้เป็นเป้าหมายในการปรับขึ้นภาษี
รวมถึงใช้กลไกการเจรจาผ่านกรอบ TIFA (ความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ) เพื่อชี้แจงถึงผลประโยชน์ร่วมระหว่างสองประเทศ และพยายามรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว
“มาตรการเชิงรุก เพื่อสร้างโอกาส วันนี้หากมองเป็นโอกาส ประเทศไทยต้องเร่งใช้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีน เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร เพื่อทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานทดแทน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจไทยและลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้ามูลค่าตํ่าอย่างที่เป็นมา นอกจากนี้รัฐบาลและภาคเอกชนควรมีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด”
ส่วนกรณีที่จีนประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้า 0% แก่ประเทศกำลังพัฒนา มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2567 ในเรื่องนี้หอการค้าฯ มองว่าเป็นการช่วงชิงประเทศพันธมิตรเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และตอกยํ้าการเป็นพี่ใหญ่ของโลกในการส่งเสริมการค้าเสรีในยุคใหม่ ในมุมหนึ่งการที่จีนยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% ทำให้สินค้าไทยที่ส่งไปจีนอาจจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น
ขณะที่สินค้าที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาดจีน จำเป็นต้องเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายต่าง ๆ เข้าไปในตลาดจีนให้มากที่สุด ซึ่งประเด็นนี้หอการค้าฯ คงต้องศึกษาในรายละเอียดทั้งมุมที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย และมุมที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568