สรท. คาดส่งออกโต 5% เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยงปี 68

07 ม.ค. 2568 | 06:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2568 | 07:08 น.

สรท. เผยคาดส่งออกปี 67 ขยายตัว 4.5-5% ขณะที่ ส่งออกปี 2568 คาดโต 1-3% เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยงปี 68 ทั้ง Trump 2.0-สงครามการค้า-ค่าเงินผันผวน-ต้นทุนพุ่ง-ค่าระวางเรือสูง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,608.2 ขยายตัว 8.2% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 ขาดดุลเท่ากับ 224.4 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ คาดว่าส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.67 ขยายตัวได้กว่า 4.5-5% ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้าย 

ขณะเดียว สรท. ได้มีการประมาณการณ์ส่งออกปี 2568 เติบโต 1-3% โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่

1. Trade War (Trump 2.0) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกามีความร้อนแรง มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ FED ปรับประมาณการณ์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้งในปีหน้า 

2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

3. ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากปัจจัยภายในรวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ

4. ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวน จากความเสี่ยงหลายประการ

5. สถานการณ์การขนส่งทางทะเล สถานการณ์ค่าระวางมีการปรับตัวสูงขึ้น จากการเร่งส่งออกตลาดไปยังสหรัฐฯ และปัญหาทะเลแดงที่ยังมีอิทธิพลต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

  • ผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ 
  • เพิ่มเติมงบประมาณด้านการกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรลุเป้าหมายส่งออก 2-3% ในปี 2568