เปิดภารกิจ เลขาฯ ส.ป.ก. เร่งออกโฉนด 1.6 ล้านฉบับ จ่อนิรโทษกรรมคนขายที่ดิน

08 ม.ค. 2568 | 22:19 น.

จากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ต้องการพัฒนาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก.ให้เป็นโฉนด ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.).ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 เห็นชอบปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” แล้วนั้น

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์” เลขาธิการ ส.ป.ก. คนใหม่ ถึงการสานต่อนโยบาย และภารกิจเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนนับจากนี้

เปิดภารกิจ เลขาฯ ส.ป.ก. เร่งออกโฉนด 1.6 ล้านฉบับ จ่อนิรโทษกรรมคนขายที่ดิน

เปิด 4 ภารกิจเร่งด่วน

นายเศรษฐเกียรติ กล่าวว่า จากนโยบายของผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุคร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาถึงยุคของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบัน นโยบายถือมีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารเน้นยํ้าคือ จะต้องเร่งออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรให้ได้จำนวนมากที่สุดตามเป้าหมาย ล่าสุดได้ออกไปแล้วกว่า 1 ล้านฉบับ ยังเหลืออีกประมาณ 1.6 ล้านฉบับที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง

เรื่องที่ 2 คือ เน้นยํ้าให้มีงบประมาณในการพัฒนาปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐานในที่ดินเกษตรกรรมนี้เพื่อให้เกษตรกรที่ได้ที่ดินไป ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้อย่างเต็มที่ โดยจะเข้าดูแลเรื่องแหล่งนํ้า ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งอยากให้มีกระบวนการตรงนี้เกิดขึ้น โดยจะดูว่า ส.ป.ก.จะปรับงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

 เรื่องที่ 3 ส่งเสริมอาชีพ และการฝึกอาชีพ กล่าวคือ ส.ป.ก.ไม่ได้ดูเพียงแค่เรื่องการจัดสรรสิทธิ์ที่ดินทำกินเพียงอย่างเดียวจะต้องมีการฝึกอาชีพ โดยมีการทำเอ็มโอยูไว้กับหน่วยงานจำนวนมาก ทั้งภายในกระทรวงเกษตรฯเอง และภายนอกกระทรวง เพื่อจะดึงงานวิจัยและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาสร้างอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ

เรื่องที่ 4 เร่งตรวจสอบการถือครองที่ดิน และการใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ ส.ป.ก. ซึ่งหน้าที่หลักจะเป็นชุดของพญานาคราชซึ่งจะลงไปตรวจสอบให้โดยความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ในพื้นที่สนับสนุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ สามารถนำที่ดินทำกินที่ถูกต้องกลับมาให้พี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาถือเป็นนโยบายหลัก ที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด

 

เปิดภารกิจ เลขาฯ ส.ป.ก. เร่งออกโฉนด 1.6 ล้านฉบับ จ่อนิรโทษกรรมคนขายที่ดิน

 

ออกระเบียบ “นิรโทษกรรม” คนขายที่ ส.ป.ก.

อย่างไรก็ดีทาง ส.ป.ก.กำลังจะออกระเบียบยกเว้นให้เกษตรกรที่มีกำลังไม่เพียงพอ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องผ่องถ่ายที่ดินไปให้กับเกษตรกรรายอื่น ยกตัวอย่าง มีที่ดิน 10 ไร่ สามารถทำได้แค่ 5 ไร่ อาจเนื่องจากเกษตรกรมีอายุมากขึ้น หรืออาจจะต้องการใช้ทุนทรัพย์ไปดูแลครอบครัว ก็ขายที่ดินให้กับเกษตรกรรายอื่นไป ซึ่งกรณีนี้เจ้าของที่ดินเดิมทำผิดระเบียบ ปกติจะต้องถูกถอดถอนสิทธิ์ แล้วยึดที่ดินนำมาจัดสรรสิทธิ์ให้กับเกษตรกรรายอื่น ซึ่งการออกระเบียบยกเว้นจะคล้ายเป็นกฎหมายเชิงนิรโทษกรรม

 “รายใหม่จะต้องมาเป็นผู้เช่าที่ ส.ป.ก. เนื่องจากรายเดิมทำผิดระเบียบ แต่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ และในแปลงที่แบ่งไปขาย รายใหม่ก็ต้องมาทำสัญญาเช่าเช่นเดียวกัน เพื่อนำเงินเข้ากองทุนเพื่อเก็บไว้ช่วยเกษตรกรรายอื่น นี่เป็นแนวทางที่ ส.ป.ก.ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบแล้ว”

 

เร่งศึกษามอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน

นายเศรษฐเกียรติ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ในการออกระเบียบใหม่นี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถแบ่งเบาภาระ เช่นที่ดินทำกินมี 50 ไร่ พออายุมากขึ้นทำไม่ไหว ขายให้เจ้าอื่น แต่มีกำหนดในช่วงนี้ให้มารับสารภาพภายใน 2 ปี นับจากระเบียบกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และต่อไปหากทำการเกษตรยาวนาน อาจจะไปศึกษากฎหมายหลัก และแก้ไขปรับปรุงว่าสามารถมอบกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกรได้หรือไม่ แต่ต้องทำกินจริง เป็นเกษตรกรจริงๆ อาจจะเป็นเกษตรกรที่มีฐานะแล้วถือครองมีระยะยาวนาน จนกิจการรุ่งเรือง มีการทำเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยี มีโรงเรือนที่ทันสมัย และอนาคตทำจนยั่งยืน ก็มีโอกาสที่จะปรับกฎหมายนี้ให้กลายเป็นที่ดินโดยชอบธรรมของเกษตรกรนั้นไป ซึ่งในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาศึกษาพอสมควร

เปิดภารกิจ เลขาฯ ส.ป.ก. เร่งออกโฉนด 1.6 ล้านฉบับ จ่อนิรโทษกรรมคนขายที่ดิน

ทั้งนี้โดยเจตนารมณ์ของ ส.ป.ก.ให้สิทธิส่งต่อที่ดินแก่ทายาท รุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อพัฒนาการทำเกษตรกรรมให้มีความทันสมัย สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้รอเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะมีระเบียบเพื่อเปิดช่องให้สามารถดำเนินการในกิจการที่เกี่ยวเนื่องได้เช่น การเกษตรเชิงท่องเที่ยว เกษตรเชิงนิเวศน์ ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางที่จะออกใหม่ ให้มีระเบียบรองรับ ซึ่งจะได้นำเสนอต่อที่ประชุม คปก.ในรอบต่อไป

“เรื่องราวต่างๆ จะต้องปรับแนวคิด ปรับหลักเกณฑ์ ปรับกฎหมายเพื่อให้เข้ายุคสมัย จะมีการปรับแก้เป็นระยะๆ แต่ก็ต้องศึกษาโดยรอบคอบด้วย ไม่ใช่ปรับไปจนเอื้อกับนายทุน หรือบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกร” นายเศรษฐเกียรติ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568