จอมทรัพย์ โลจายะ เครดิตเสีย คือ ตายแล้วทางธุรกิจ

20 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 05:51 น.

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ นักธุรกิจแต่ละคนมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน แต่หลักใหญ่ใจความที่ทำให้คนทำธุรกิจล้ม แล้วสามารถลุกขึ้นมาได้ นั่นคือ ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่ละธุรกิจ และแต่ละสถานการณ์

สำหรับ "จอมทรัพย์ โลจายะ" ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด กุญแจแห่งความสำเร็จของเขาคือ "Credibility" ความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่กับตัวเองและทีมงาน แต่รวมถึงพาร์ตเนอร์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะพาร์ตเนอร์ด้านการเงิน
 

"จอมทรัพย์" เป็นน้องสุดท้องในลูกชาย 3 คน เขาจบปริญญาโทและเอกทางด้านกฎหมาย จากสหรัฐอเมริกา และยังจบปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of California, Los Angeles, California กลับมาเมืองไทย ก็เริ่มงานด้านกฎหมาย อยู่ในอนุกรรมการร่างกฎหมายบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) แล้วก็ไปทำปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้เขาเจอลูกค้านักธุรกิจมากมาย และตอนทำกฎหมายก็ทำเกี่ยวกับทางด้านธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัญญา หรืออื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาทั้งกฎหมาย และการเงิน

 

การได้คลุกคลีอยู่กับคนทำธุรกิจ ประกอบกับครอบครัวก็มีคุณแม่ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ทำให้เขาสนใจที่จะทำธุรกิจด้วยเช่นกัน และเมื่อมีโอกาส จึงได้เริ่มงานกับ บริษัท คันทรี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเอเวอร์แลนด์ และเขายังก้าวสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดโรงงานผลิตอิฐมวลเบา ภายใต้บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด
 

ประสบการณ์บริหารอิฐมวลเบา ได้ให้บทเรียนเขามากมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ เริ่มต้นตั้งแต่การทำธุรกิจในช่วงขาขึ้น ที่ตลาดดีมาก ผลิตสินค้าแทบไม่ทันออร์เดอร์ ออร์เดอร์สินค้าต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 3 เดือน จึงจะได้รับสินค้า ปี 2548 เขาจึงนำบริษัทเขาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วเร่งเปิดโรงงานเพิ่มอีก 2 โรงงาน ทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น 200% ขณะที่คู่แข่งก็เปิดโรงงานเพิ่มอีก 3 โรงงาน ทำให้เกิดสินค้าล้นตลาด ต้องมาแข่งขันกันด้านราคา ทำให้การดำเนินธุรกิจขาดทุน

ความผิดพลาด เกิดจากการขยายกำลังการผลิตมากเกินไป ทำให้สภาพตลาดเปลี่ยน เพราะตอนนั้นตลาดมันดีเหลือเกิน มาร์จินดีมาก เราเลยแข่งขันทุกวิธี พยายามทำแบรนดิ้ง แต่อิฐมวลเบา เป็นตลาดชุมชน (Community Marketing) ไม่เน้นเรื่องแบรนด์ แต่ให้ความสำคัญกับต้นทุน ถ้าราคาสินค้าสูง จะทำให้ต้นทุนในธุรกิจของเขาสูงขึ้น ขณะที่ผู้รับเหมากำหนดราคาต้นทุนการทำโครงการของเขาไว้อยู่แล้ว หากต้องการขายอิฐมวลเบาให้ได้ราคา ตามคุณภาพสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่ง ก็ต้องขายกับ End-user



“จอมทรัพย์” เล่าว่า เขาต้องขาดทุนต่อเนื่องอยู่ 8 ปี ระหว่างนั้นก็คิดหาทางแก้ไขตลอด เมื่อธุรกิจตรงนี้ขาดทุนก็ต้องยอมถอย ออกมาร่วมทุนกับ เดต้าแมทช์ ไปรับงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างรายได้และกำไรเข้ามา เพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน



“สำคัญที่สุด ถ้าเราจะรอดมาได้ คือ 1.เราต้องจ่ายเงินเดือนให้ได้ก่อน 2.ทำให้เครดิตเราไม่เสียเรื่อง Credibility สำคัญมาก เพราะนักธุรกิจ ถ้าแบงก์ไม่ซัพพอร์ต ทำอย่างไรมันก็ไม่ฟื้น”


และเขาก็สามารถฟื้นกลับมาได้จริงๆ แต่ไม่ใช่ในธุรกิจเดิม เพราะจากความผิดพลาดครั้งนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เมื่อรู้ว่าไปไม่รอด ทำต่อไปก็ขาดทุน ก็ต้องยอมที่จะถอย แม้ในฐานะผู้บริหารจะรู้สึกเหมือนยอมแพ้ แต่เขายอมรับว่าการทำธุรกิจต้องรู้จักถอยให้เป็น...เราก็ต้องยอมรับว่า ในธุรกิจนี้ถ้าเราสู้ไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องยอมถอย อย่างน้อยเราไปหาอะไรอย่างอื่น ที่ได้กำไรมากขึ้น ได้เงินมากกว่า และเมื่อมีจังหวะ ธุรกิจกลับมาฟื้นตัว เขาจึงขายกิจการให้กับปูนอินทรีย์ แล้วขยับขยายมาทำธุรกิจใหม่ด้านพลังงานทดแทน จากคำชวนของเพื่อนรุ่นพี่ วีระเดช เตชะไพบูลย์

“จอมทรัพย์” นำบทเรียนธุรกิจจากอิฐมวลเบามาตั้งเป็นโจทย์ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ คือ1.ต้องไม่มีการแข่งขันด้านราคา 2. ต้องไม่มีหนี้เสีย 3. ใช้พนักงานน้อย และสิ่งที่สำคัญที่สุด 4. อยากทำธุรกิจที่เป็นรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งพลังงานทดแทนสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้หมด

นักบริหารคนนี้ แม้ไม่มีความชำนาญส่วนตัวเกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน แต่เขารู้จักที่จะเลือกใช้คนที่ชำนาญมาบริหารธุรกิจให้ แล้วใช้ความรู้พื้นฐานทั้งในส่วนกฎหมาย และการเงิน ซึ่งทุกธุรกิจมีพื้นฐานคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว มาประกอบร่างทำให้ธุรกิจของเขาแข็งแกร่งขึ้น

ธุรกิจในฝันของซีอีโอคนนี้ ให้ทั้งรายได้ และยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยของเสีย ซึ่งเขามีแผนที่จะต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทนจากโซลาร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ไปสู่พลังงานลม และโรงงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน
 

“ทุกธุรกิจมีอุปสรรคให้แก้ไขได้ เพียงแต่ผมเชื่อว่าเราจะทำได้ ถ้าเราเชื่อว่าทำได้ และแก้ไขได้ด้วยการวางระบบการทำงานที่ดี เรื่องเหล่านี้ต้นแบบของเขาคือคุณแม่ ที่ทำงานตลอด สิ่งที่ได้จากท่านคือเรื่องเครดิตตัวเองห้ามเสีย ถ้าเครดิตเสีย คือ ตายแล้วทางธุรกิจ และอีกอันที่แม่สอนหนัก คือ กล้าให้กล้าใช้ คือ ถ้าทำบุญก็ทำไม่ต้องรอรวยก่อน ทำไปตามศักยภาพที่เราทำได้”



“จอมทรัพย์” ยํ้าว่า การทำธุรกิจแต่ละคนอาจมีความพร้อมที่แตกต่างกัน แต่สำหรับเขา เรื่องสำคัญคือ เครดิตต้องไม่เสีย...ถ้าผมเสียเครดิต ไม่จ่ายเขา เบี้ยวเขา วันนี้คงไม่มีแบงก์ไหนให้มา 1.8หมื่นล้าน ...เราต้องคำไหนคำนั้น ถ้าผิดพลาดก็ต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่ไปขอลดเขา เราต้องเป็นคนบริหารที่ซื่อสัตย์กับตัวเอง และพาร์ตเนอร์ ตอนผมทำอิฐมวลเบา ผมขาดทุนอยู่ 8 ปี ผมก็ขอไปขยายเวลาชำระกับเขา ขอผ่อนดอกเบี้ย แล้วเอาไปทบเป็นเงินต้น แบงก์ที่ทำงานกับผม ไม่เคยเสียหาย แล้วเราก็เดินหน้าไปได้ นักธุรกิจไม่มีเครดิตที่ดี มันไปต่อไม่ได้
 

อีกสิ่งสำคัญของนักธุรกิจ คือต้องรู้จังหวะ ต้องมองให้ขาด รู้ว่าตอนไหนควรถอย ตอนไหนควรรุก และท้ายสุด คือ ต้องมองหาโอกาสอื่นๆ เข้ามาทดแทนตลอดเวลา เพียงแค่นี้ เชื่อได้ว่าการทำธุรกิจจะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างแน่นอน


 

เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559