แต่...ในวันนี้ ที่มีคนเจน 3 อย่าง “ยุทธชัย จรณะจิตต์” หรือ คุณท็อป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด ลูกชายคนโตของ อดิศร-นิจพร จรณะจิตต์ หลานของ ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต ก้าวเข้ามารับช่วง...ต้องบอกเลยว่า ภาพเก่าๆ เหล่านั้นกำลังจะถูกเปลี่ยน ด้วยรูปแบบการบริหารงานที่มีเป้าหมาย และนโยบายที่ชัดเจน ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงเว่อร์ คนนี้
ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาทำงาน ผู้บริหารคนนี้ ก็เข้าไปศึกษาหาโซลูชันที่จะทรานส์ฟอร์มองค์กร แล้วก็รวบรวม (consolidate) ธุรกิจต่างๆ ให้มาอยู่ในไดเร็กชันเดียวกัน สร้าง Core Value และวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ ที่จะทำให้คนในองค์กรที่มีความหลากหลายทั้งเจเนอเรชันและวัฒนธรรม ร่วมกันผลักดันให้องค์กรเติบโตไปอย่างมั่นคง
ถามว่า...ภารกิจการทรานส์ฟอร์มองค์กร เป็นสิ่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่มาหรือเปล่า “คุณท็อป” บอกเลยว่า ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชงเองตบเอง ชอบการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจด้วยอายุเพียง 24-25 ปี เนื่องจากคุณพ่อเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุกะทันหัน ทำให้เขาต้องเข้ามาสานต่อภารกิจของครอบครัว ในขณะที่องค์กรใหญ่อย่างอิตัลไทย เต็มไปด้วยผู้มีประสบการณ์ คนที่อยู่มานาน และมีความรักองค์กร แต่หากคนเหล่านั้นไม่เปิดรับ ไม่ให้โอกาสผู้บริหารใหม่อย่างเขาได้เข้าไปเรียนรู้ มันก็เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะเดินหน้าได้ โดยไม่หยุดชะงัก เพราะฉะนั้น ภารกิจการทรานส์ฟอร์ม จึงต้องเริ่มต้นขึ้น
“บางคนที่ทำงานกับผม ก็บอกว่า ผมเปลี่ยนเร็วไป เยอะไป แต่ผมบอกว่า เราต้องเปลี่ยน เพื่อความอยู่รอด เราต้องสเกลอัพ และต้องมีความแตกต่าง...ทุกๆ 5 ปี 10 ปี จะต้องมีเรื่องการ Remodeling เหมือนเป็นเทรนด์ เพราะมันมีเรื่องดิจิทัลดิสรัปชัน องค์กรต้องมีการรีโพรเซส แมเนจเมนต์ ใช้คนน้อยลง ซิสเต็มมากขึ้น มันทำให้เราต้องปรับตัว”
เกือบตลอด 60 ปีที่ผ่านมา “คุณท็อป” เล่าว่า อิตัลไทยมีพนักงานจำนวนมาก ทุกคนรู้ว่าทำงานให้อิตัลไทย แต่ยังขาดความเป็นเอกภาพ (Unity) ด้วยกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล, กลุ่มธุรกิจการบริหารด้านวิศวกรรม, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีก... สิ่งที่ผู้บริหารคนนี้เข้ามาทำ คือ การสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ผ่าน Core Value และวัฒนธรรมองค์กร เพืื่อจะบอกว่า คุณทุกคน คือ คนของอิตัลไทย
“คุณท็อป” พยายามบาลานซ์ความหลากหลายของคนในองค์กร จากความเชี่ยวชาญของคนรุ่นเก่า และความครีเอทีฟของคนรุ่นใหม่ ให้มาเจอกันตรงกลาง พยายามสร้างให้เกิดการเรียนรู้ การรีสกิลเพิ่มทักษะการทำงานใหม่ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยไม่ทำให้ Core Value 6 ข้อคือ การเปิดใจรับฟัง พร้อมแบ่งปัน, การเรียนรู้ เพื่อเติบโต, สร้างผลลัพธ์ที่ดี, ทำสิ่งที่ถูกต้อง, สนุกสนานกับการทำงาน และ ไม่ยอมแพ้...ไม่ใช่เรื่องแค่ท่องจำ แต่ต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในความเป็นตัวตนของทุกคน
การส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาทีมงาน คือส่วนหนึ่งที่ซีอีโอ อิตัลไทย คนนี้มองว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโดยภาพรวมทั้งในไทยและเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เพราะฉะนั้น อิตัลไทยจึงโฟกัสเรื่องของบุคลากรชัดเจนมาตลอด 2-3 ปี รวมทั้งมีการปรับโมเดลธุรกิจ
ฝั่งของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ที่ประสบภาวะชะลอตัวอย่างหนัก “คุณท็อป” นอกจากความพยายามสเกลอัพธุรกิจให้ขยายตัว ก็เริ่มปรับโมเดลจากการเป็นดีลเลอร์และดิสทริบิวเตอร์ สู่จอยต์เวนเจอร์ พาร์ตเนอร์ ซึ่งล่าสุดจับมือกับ ทาดาโน แจแปน เพื่อจะขายรถเครนพร้อมบริการหลังการขายในประเทศไทย และลาว ซึ่งทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง เป้าหมายต่อไป คือ การปรับเปลี่ยนโมเดลของกลุ่มธุรกิจคอนสตรักชัน อิควิปเมนต์ เดินหน้าสู่การเป็นจอยต์เวนเจอร์ พาร์ทเนอร์ ให้ได้เร็วที่สุด
ส่วนธุรกิจรับเหมา นอกจากการหางานเข้าอย่างต่อเนื่อง ยังมีแผนนำผลกำไรจากธุรกิจ ไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ (Recurring Income) เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน เขื่อน หรือธุรกิจรีไซเคิล
ด้านธุรกิจโรงแรม ก็พยายามหาพาร์ตเนอร์ เพื่อขยายตลาดผู้ให้บริการบริหารธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ หากสามารถหาพาร์ตเนอร์ได้ถูกต้องจะช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุด ได้จับมือกับ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมกันพัฒนาเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เป็นการนำคอนโดมิเนียมที่มีอยู่พัฒนาเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ทำให้เกิดรายได้สมํ่าเสมอ โดยโมเดลนี้ยังคุยกับดีเวลอปเปอร์รายอื่นๆ เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ซีอีโอหนุ่มไฟแรงคนนี้ มองคือ การพัฒนาธุรกิจที่เติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ พร้อมทั้งสร้างความแตกต่างในตลาด โดยส่วนหนึ่งคือการจับมือกับพาร์ตเนอร์ ที่เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาคือ การเปลี่ยนริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก จากห้างติดแม่นํ้าที่ขายของเก่า มีคนสัญจรไปมาไม่มาก แต่ปัจจุบัน ได้นำเรื่องของ ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary art) พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เป้าหมายต่อไปคือ การแต่งเติมด้วยพิพิธภัณฑ์ถาวร (permanent museum) โดยการร่วมมือกับ Tang Gallery และยังมีแผนต่อยอดถึงการเป็นแหล่งประมูลงานศิลป์ที่มีคุณค่าระดับโลกอีกด้วย
แนวคิดที่แตกต่าง และความที่เป็นคนไดนามิก คือ วิถีที่ซีอีโอคนนี้ ใช้เป็นพลังขับเคลื่อนให้ กลุ่มธุรกิจอิตัลไทย เดินหน้าไปสู่การเป็นองค์กรโมเดิร์น ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ด้วยเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 5 ปี เพราะถ้าเกินกว่านั้น มันคือความฝัน การทำงานต้องไดนามิก ต้องเร็ว...นั่นคือ เส้นทางธุรกิจของกลุ่มอิตัลไทย ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารหนุ่มเจน 3 ไฟแรงเว่อร์ ที่ชื่อ “ยุทธชัย จรณะจิตต์”
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,506 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2562