นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ผู้บริหารหนุ่ม เจน 3 ของรองเท้านักเรียน โกลด์ ซิตี้ “สุเมธ จินาพันธ์” กรรมการผู้จัดการ ป้ายแดงของ บริษัท โกลด์ ซิตี้ ฟุตแวร์ จำกัด ต้องการลุกขึ้นมาปัดฝุ่นกู้ชื่อแบรนด์ พร้อมปูพื้นฐานการจดจำให้กับลูกค้ตั้งแต่วัยเด็ก
“สุเมธ” บอกว่า ต้องยอมรับว่าการทำตลาดในยุคนี้ เรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งในตลาดที่มีคู่แข่งเยอะ แต่ละแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาด ก็ขยันสื่อสารกับผู้บริโภคต่อเนื่อง แบรนด์โกลด์ ซิตี้ ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่มีมาเกือบ 70 ปี จึงอยู่นิ่งๆ ต่อไปไม่ได้ การลุกขึ้นมาสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
กรรมการผู้จัดการ โกลด์ ซิตี้ ป้ายแดงคนนี้ เพิ่งรับตำแหน่งไปไม่ถึงเดือน แต่ความที่เกิดและเติบโตมากับแบรนด์ วิ่งเล่นอยู่ในโรงงานตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขามีความผูกพัน และเข้าใจความเป็นมาของสินค้าเป็นอย่างดี เขารู้ดีว่า ที่ผ่านมาตลาดรองเท้านักเรียนมีความซบเซา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน จำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยก็ลดน้อยลง ตลาดรองเท้านักเรียนจึงซบเซาลง จนทำให้บริษัทต้องแตกไลน์การผลิตไปสู่รองเท้าแฟชั่นมากขึ้น โดยเขามีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนของรองเท้าแฟชั่นให้มากขึ้นไปอีก พร้อมกับแตกแบรนด์น้องใหม่เข้าสู่ตลาด
“สุเมธ” บอกว่า จากที่จบมาทางสายการตลาด และได้เรียนรู้งานด้านการผลิตกับคุณพ่อ รวมทั้งการทำตลาด และการขายกับคุณแม่ ทำให้เขามองเห็นโอกาสทางการตลาดชัดเจนขึ้น และได้เห็นข้อดีข้อเสียต่างๆ ในองค์กร สิ่งที่เขาเข้ามารับไม้ต่อในการนำพาแบรนด์โกลด์ ซิตี้ ให้เดินหน้าต่อไปในตลาด จึงเริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างภายใน ทำทุกอย่างให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน
เมื่อปรับภายในองค์กรแล้ว ก็ต้องทำเรื่องหน้าบ้าน ดูแลเรื่องของแบรนด์ และการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาโกลด์ ซิตี้ ทำการตลาดน้อยมาก ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ทำการตลาดมาต่อเนื่อง ตอนนี้ถึงเวลาที่เขาจะต้องเข้ามาปัดฝุ่นจัดระบบการตลาดเสียใหม่ สื่อสารสิ่งดีๆ ของแบรนด์ให้ผู้บริโภครับรู้ ผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมไปถึงการทำกิจกรรมโรดโชว์ และการจัดดิสเพลย์ในร้านค้า ทำให้คนสะดุดตากับแบรนด์โกลด์ ซิตี้ มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ที่อาจจะห่างหายไปบ้างในระยะหลังๆ
“ผมทำได้เกือบทุกด้าน ผลิตก็รู้เรื่อง ขายก็ทำได้ ผมจึงนำเรื่องของมาร์เก็ตติ้งที่จับต้องได้มาใช้ ไม่ใช่เอาแค่ทฤษฎีมาใช้”
แนวคิดของผู้บริหารคนนี้ คือ การนำสิ่งที่สัมผัสมาเองตั้งแต่เด็กว่า หากได้ใส่รองเท้าแบรนด์ไหนตั้งแต่เริ่มต้น ต่อๆ ไปก็จะเลือกแบรนด์นั้นตลอด เขาจะนำแนวคิดนี้มาปรับ แล้วใช้ในการปูพรมสร้างความจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการสื่อสารแบรนด์ ซึ่งจะผนึกกับกิจกรรมต่างๆ เช่นเรื่องของดนตรี ซึ่งที่ผ่านมา เขาได้สนับสนุนการประกวดวงดนตรีระดับมัธยม “GOLD CITY THAILAND BAND KNOCKOUT 2019” และยังมีแผนที่จะนำเรื่องกีฬา อาทิ การวิ่ง เข้ามาเป็นกิจกรรมในช่วงปลายปี หรือ การแข่งขันเกมออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เขาสนใจ
แนวคิดของผู้บริหารคนนี้ คือการผสมผสานสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากทำ มาประยุกต์เข้ากับความต้องการของเด็กในยุคปัจจุบัน แล้วสร้างขึ้นเป็นแคมเปญการตลาด กระตุ้นการรับรู้ ซึ่งได้ทั้งในแง่ของธุรกิจ และการตอบแทนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและเยาวชน
การผสมผสานแนวคิดเหล่านั้น ยังลามไปถึงการปรับปรุงภาพรวมของตลาด จากที่โรงเรียนและผู้ปกครองคิดไปเองว่า รองเท้านักเรียนต้องเป็นพื้นเขียว ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่มีกฎระบุไว้เช่นนั้น ตอนนี้เขาจึงเริ่มนำรูปแบบพื้นรองเท้าใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันให้กับเด็กๆ และเร็วๆ นี้เขาจะนำรูปแบบการผลิตรองเท้าแบบใหม่ ทั้งรองเท้านักเรียนและรองเท้าแบบอื่นๆ ด้วยการปรับสูตรการทำพื้นรองเท้าให้แข็งแรงขึ้น และเบาขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า แบรนด์ไทยอย่างโกลด์ ซิตี้ เป็นแบรนด์รองเท้าคุณภาพ ไม่ต่างจากแบรนด์ดังๆ ของโลก เพียงแต่แบรนด์ไม่ได้มีค่าตลาดที่สูง จึงทำให้ราคาไม่ได้แพง สามารถขายในราคาที่คนทั่วไปจับต้องได้
เส้นทางการกู้ชื่อแบรนด์ และการกู้ตลาดรองเท้าแบรนด์ไทย ภายใต้การบริหารของคนหนุ่มที่ชื่อ “สุเมธ จินาพันธ์” กำลังค่อยๆ เดินหน้า ไปพร้อมๆ กับการปรับระบบหลังบ้านของตัวเอง ซึ่งปลายปี จะมีการควบรวมบริษัทในเครือที่มีทั้งหมด 3 บริษัท เข้ามาเป็นบริษัทเดียว แล้วเดินหน้าเต็มที่ ทั้งการสร้างตลาดในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งการเปิดพื้นที่ OEM หรือการรับจ้างผลิตให้มากขึ้น การสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด รวมทั้งการสร้างพันธมิตรเพื่อเปิดโอกาสดีๆ ให้กับแบรนด์
เรียกได้ว่า เส้นทาง ของ โกลด์ ซิตี้ นับจากนี้ น่าจับตาและน่าสนใจมากเลยทีเดียว
หน้า 22 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,476 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562