‘คิดเร็ว ลดเสี่ยง’ มุ่งสู่เป้าแห่งชัยชนะ เจน 2 ทีซีพี กรุ๊ป

01 ธ.ค. 2562 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 21:38 น.

ฝันว่าวันหนึ่งเราจะทำได้ วันหนึ่งสินค้าของ ทีซีพี จะมี something มันจะหมายถึงคุณภาพ หมายถึงองค์กรที่  winning power momentum พลังแห่งชัยชนะ ตอบแทนสังคม ทำงานกับชุมชน เป็นองค์กรที่ดี ตรงนี้มันก็จะแบ็กอัพแบรนด์สินค้าของเราหลายๆ ตัว

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี บอกเล่าถึงเป้าหมายที่เขาต้องการจะเห็น เมื่อวันนี้หลังจากเข้าสร้างแบรนดิ้งของ ทีซีพี กรุ๊ปจนเข้มแข็ง คนรับรู้ได้ว่า ทีซีพี คือแบรนด์องค์กร ที่มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ กระทิงแดง สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ จนไปถึงขนมขบเคี้ยว อย่าง ซันสแนกค์

สราวุฒิ อยู่วิทยา

“แต่ก่อน เราไม่มีคอร์ปอเรตแบรนด์ เมื่อก่อนคนเรียกเราว่า กระทิงแดง ทั้งๆ ที่เรามีสินค้าทั้งแมนซั่ม สปอนเซอร์ ซันสแนค ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ แต่คนไม่รู้”

ความที่แบรนด์กระทิงแดงแข็งแรงมาก ดีมาก แต่อิมเมจมันคือ เอ็นเนอร์จีดริงก์ และในขณะเดียวกัน แบรนด์กระทิงแดง กับซันสแนค อิมเมจแบรนด์ก็แตกต่างกันมาก การจะสื่อสารบอกว่า ซันสแนคเป็นสินค้าในเครือกระทิงแดง มันไปด้วยกันยากมาก แต่ทั้ง 2 แบรนด์นี้อยู่ในองค์กรเดียวกัน ซึ่งมันไม่ผิด เพราะฉะนั้น จึงคิดว่า มันน่าจะมีคอร์ปอเรตแบรนด์ที่เข้มแข็ง เพื่อทำให้การสื่อสารเดินหน้าไปได้อย่างไม่ขัดแย้ง โดยแต่ละแบรนด์สินค้าคงยังสร้างแบรนดิ้งของตัวเอง แต่คอร์ปอเรตแบรนดิ้งขององค์กรก็ต้องเข้มแข็งด้วย เพื่อไปแบ็กอัพซึ่งกันและกัน

เป้าหมายภาพลักษณ์ของ ทีซีพี กรุ๊ป ที่ซีอีโอคนนี้อยากจะเห็น และอยากให้เป็น คือ กลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ที่สามารถแข่งขันในเวทีต่างประเทศได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทีซีพี พยายามทำอยู่แล้ว

“แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้คนเห็นภาพด้วยก็คือ ทีซีพี จะเป็นองค์กรที่ทำเพื่อสังคม ซึ่งเราทำมาตลอด และตอนนี้เราพยายามพูดให้มากขึ้น ในเมื่อเราเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จแล้ว เราควรจะส่งต่อเรื่องเหล่านี้ให้ไปสู่ชุมชน สังคม และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเราด้วย นั่นคือ สิ่งที่เราพยายามจะทำ”

ซีอีโอ ทีซีพี บอกว่า เรื่องของสังคมสำหรับ ทีซีพี จริงๆ เป็นสิ่งที่ทำมานานแล้ว โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่คุณพ่อ-เฉลียว อยู่วิทยา ก็คงไม่ผิด เพราะท่านทำงานด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ ทำมานานแล้ว โดยในยุคนั้น คุณเฉลียวจะลุยงานไปเรื่อยๆ โดยไม่ค่อยได้สื่อสารให้คนภายนอกรับทราบ

 

“สราวุฒิ” บอกเลยว่า ปลายทางของเราไม่เปลี่ยน ด้วยดีเอ็นเอเรายังดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องสังคม แต่วิธีการตรงนี้คือปรับเปลี่ยน ให้ทุกอย่างเข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงาน การผลิต การขาย การกระจายสินค้า การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทำแค่เสาร์-อาทิตย์ หรือทำแค่กิจกรรม แต่เรานำเข้ามาในกระบวนการทำงานให้กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ตั้งเป็นกรอบการทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ล้อไปกับ SDGs หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

 

ทีซีพี ให้ความสำคัญกับนํ้ามาก เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการทำธุรกิจ แผนธุรกิจของ ทีซีพีคำนึงถึงเรื่องของนํ้าตั้งแต่เริ่มต้น เช่น โรงงานต้องคิดถึงเรื่องของนํ้า ตอนที่ย้ายโรงงานมาอยู่ที่ปราจีนบุรี คุณเฉลียวคิดตั้งแต่เริ่มต้น การสร้างโรงงานต้องไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นที่นา พื้นที่เกินกว่าครึ่งเป็นที่บ่อกักเก็บนํ้า ที่สามารถเก็บได้ 3.5 ล้านลิตร ในฤดูแล้งจึงสามารถใช้นํ้าในบ่อกักเก็บได้ และยังสามารถส่งออกนํ้าให้ชาวบ้านข้างนอกได้ด้วย

นอกจากเรื่องนํ้า ยังมีเรื่องของพลังงาน การติดโซลาร์รูฟ เพื่อนํ้าพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในโรงงาน ซึ่งกำลังจะลงทุนติดเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เหลือเร็วๆ นี้ รวมไปถึงการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด และยังเลือกใช้เชื้อเพลิงจากกะลาปาล์ม แทนนํ้ามันเตา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เอาเศษของกะลาปาล์มไปทำปุ๋ย แล้วส่งต่อให้ชาวบ้านไปใช้

 

การทำหน้าที่ผู้นำองค์กรในยุคนี้ “สราวุฒิ” บอกว่า ไม่ได้ต่างจากยุคของรุ่น 1 เพราะเขาคิดเรื่องพวกนี้และทำมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่เขาปากกัดตีนถีบ จึงไม่ได้ออกมาสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ แต่รุ่น 2 โชคดี รุ่น 1 สร้างฐานธุรกิจมาแล้ว เลยทำให้มีเวลามามองภาพใหญ่เยอะขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เปลี่ยน สภาพในองค์กรเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คนรุ่นใหม่คิดเรื่องพวกนี้มาก หากองค์กรไม่ปรับตัว ก็คงไม่สามารถจะไปดึงใครมาทำงานร่วมกันได้

‘คิดเร็ว ลดเสี่ยง’ มุ่งสู่เป้าแห่งชัยชนะ เจน 2 ทีซีพี กรุ๊ป

การถูกดิสรัปต์ มีโจทย์ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนกระบวนการความคิดการทำงานให้เร็วขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือ คิดให้เร็ว ทำให้เร็ว คิดเรื่องความเสี่ยงให้มากขึ้น และพร้อมที่จะปรับแผนตลอดเวลา

กับคำถามทิ้งท้าย ว่าการเป็นผู้นำในยุคนี้ยากไหม ซีอีโอ ท่านนี้ตอบทันทีว่า…ยากสิ ตอนนี้เชลฟ์ไลฟ์ซีอีโอสั้น ซีอีโอ ลาออกกันเยอะ ...เราต้องรู้จักหาความสุขนะ ตราบใดที่ธุรกิจเราไม่ใช่เพื่อเงินอย่างเดียว แบบนั้นมันแห้ง การมาทำเรื่องสังคม มันคือ ความสุข ที่ถูกปลูกฝังมาในครอบครัว และเราจะส่งต่อให้ทุกคนในองค์กร

นี่คือวิธีเติมพลัง สู่…เป้าหมายแห่งชัยชนะ ของ “สราวุฒิ อยู่วิทยา”

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,526 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘คิดเร็ว ลดเสี่ยง’ มุ่งสู่เป้าแห่งชัยชนะ เจน 2 ทีซีพี กรุ๊ป