“ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่หมดวาระไป เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565
“อาจารย์อภิชาติ” สามารถเข้ารับไม้ต่อตามแนวทาง Smart Hospital ของศิริราชทันที ด้วยความที่เป็นบุคลากรที่เติบโตอยู่ในองค์กรแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ทำงานอยู่ในศิริราชกว่า 30 ปี และทำหน้าที่ในระดับบริหารราว 25 ปี
พันธกิจของศิริราชคือ รักษา สร้างคน และสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยการทำวิจัย “อาจาย์อภิชาติ” เล่าว่า การรับไม้ต่อครั้งนี้ ภารกิจที่เร่งดำเนินการคือ การเพิ่มคุณค่าการให้บริการที่เป็นเลิศกับผู้ป่วย ซึ่งทำทั้งการการเสริมเทคโนโลยี และเสริมทักษะให้บุคลากร เพื่อให้ศิริราชเป็น Smart Hospital คนไข้มาแล้วต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ถูกต้องแม่นยำ ปลอดภัย และคุ้มค่า
ส่วนของการเป็นสถาบันการแพทย์ หรือโรงเรียนแพทย์ ต้องทำหน้าที่สร้างบัณฑิตหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจริยธรรม มีความสามารถและออกไปเป็นคนศิริราชที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ รวมทั้งยังต้องสร้างศิริราชให้เป็นสถาบันต้นแบบทางด้านการแพทย์ และการรักษา ด้วยการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ Smart Hospital โดย
“อาจารย์อภิชาติ” ขยายความถึงการเป็น Smart Hospital ของศิริราชที่อำนายความสะดวกด้านการรักษาพยาบาลให้กับคนไข้ ด้วยการขยายจุดให้บริการ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม เช่น การทำ Si Connect ที่ทำให้คนไข้สามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง รวมถึงการขยายจุดรับบริการ เช่น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่กำลังขยายบริการให้เป็นศูนย์อุบัติเหตุ และศูนย์มะเร็ง หลังจากพัฒนาให้เป็นศูนย์ไตแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการขยายจุดตรวจเลือด Drive thru ที่บริเวณติดกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร และจุดเจาะเลือดที่อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 1 ซึ่งขณะนี้เตรียมร่วมมือกับศูนย์การค้า เช่น กลุ่มเซ็นทรัลในการเปิดศูนย์ลักษณะนี้เพิ่มเติม ที่บริเวณเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และปี 2566 ยังเตรียมสร้าง
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ที่สมุทรสาตร เป็นสถานฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยสูงอายุ และยังเป็นศูนย์ฝึกสอนให้ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย โดยได้รับการบริจาคที่ดินกว่า 24 ไร่ และเงินอีก 200 ล้านบาท จาก วารุณี อยู่พูนทรัพย์
รวมถึงอาคารรักษาพยาบาล และสถานีรถไฟร่วมศิริราช บนสถานีรถไฟฟ้าสายสายสีส้ม และสายสีแดงอ่อน ซึ่งจะเป็นเหมือนคลินิกขนาดใหญ่ เป็นโครงการพัฒนาอาคารศูนย์การแพทย์รวมแห่งใหม่ ที่จะใช้ทดแทนอาคารผู้ป่วยนอกเดิมของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะเกิดอีกราว 10 ปีข้างหน้า
การกระจายจุดบริการของศิริราชออกไปข้างนอก นอกจากลดความแออัดที่มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการวันละกว่า 1 หมื่นคน ปีละกว่า 4.2-4.5 ล้านคนแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้ด้วย แต่ “อาจารย์อภิชาติ” ย้ำว่า การที่ศิริราชจะไปเปิดที่ไหน สิ่งที่ระมัดระวังที่สุดคือ แบรนดิ้งศิริราชต้องไม่ตกมาตรฐานแบรนดิ้งศิริราชต้องไปพร้อมกับคนศิริราช ระบบไม่มีปัญหา ต้องมีการเช่ื่อมโยง (linkage) ระบบได้ และสำคัญที่สุดคือ “คน”
“อาจารย์อภิชาติ” ขยายความอีกว่า “คนศิริราช” ต้องมี “หัวใจศิริราช” ลักษณะที่สำคัญจะต้องมีคุณสมบัติ คือ
AIR เริ่มจากตัว R : Responsibility คือ ความรับผิดชอบ ทุกคนต้องรู้ว่างานของตนเองคืออะไร และต้องให้ดีที่สุดด้วยทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ I : Integrity ความซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงที่รับรองแล้วอย่างมีเหตุมีผล ไม่เอาอารมณ์หรือความคิดส่วนตัวมาใส่ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง ตรงนี้สำคัญมากเพราะมันคือเรื่องของชีวิตคน ต้องดูว่าอะไรที่เหมาะที่สุดกับคนไข้นั้น และต้องทำให้ดี และ A : Altruism ความบริสุทธิ์ใจ การคิดอันเป็นกุศล ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อศิริราช
“อาจารย์อภิชาติ” เล่าว่า การทำงานวันนี้ยังไม่เจออะไรที่หนักใจ มีแต่เรื่องที่ต้องทำและทำไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับคนศิริราชกว่า 2 หมื่นคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Smart Hospital และสถาบันทางการแพทย์ต้นแบบของคนไทยและประชากรโลก
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,848 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565