ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ในบทบาทของ Development Bank ที่เดินหน้าช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถประกอบธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้
“เราเป็นคนแรก ที่ทำให้มีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่บนราง เรือไฟฟ้าข้ามจากโอเรียนเต็ลไปไอคอนสยาม หรือแม้กระทั้งการเกิดขึ้นของโรงงานแบตเตอรี่ การพัฒนาไม่ใช่แค่เอาไปใส่ให้ได้มีชื่อ แต่เป็นการสร้างจริงๆ สำหรับคนที่มีความฝันและเป็นความฝันที่เป็นไปได้ กลายเป็นความจริง”
“ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พูดถึงการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่ผ่านมา และเป็นบทบาทของ Development Bank ที่มุ่ง “ซ่อม สร้าง และเสริม” ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ดำรงอยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้า
ผู้บริหาร EXIM BANK อธิบายถึงระบบการทำงานของ “ธนาคาร” อย่างในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ธุรกิจแทบทุกสาขามีปัญหา “ธนาคาร” ซึ่งเป็นที่พึ่งทางการเงินของเหล่านักธุรกิจกลับปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นคือ มีอัตราความเสี่ยงสูง แต่เมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว EXIM BANK กลับเป็นธนาคารที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการปล่อยวงเงินให้กับสายการบินต่างๆ ที่ประสบปัญหา เนื่องจากการเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก
“ดร.รักษ์” อธิบายว่า EXIM BANK เป็น Development Bank ที่ทำหน้าที่ “ซ่อม - สร้าง - เสริม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต การเข้าไป “ซ่อม” อุตสาหกรรมการบินที่ไม่มีใครปล่อยสินเชื่อเลยในช่วงโควิด จึงเป็นสิ่งที่ EXIM BANK ทำด้วยวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท
“สร้าง” เป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ EXIM BANK โดยเฉพาะการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ อาทิ สตาร์ทอัพต่างๆ ที่ในความเป็นจริง ผ่านมือแบงค์ในประเทศไทยไม่ถึง 3% ส่วน “เสริม” EXIM BANK ไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตร ทั้งธนาคารออมสิน ไอแบงค์ เอสเอ็มอีแบงค์ รวมถึงสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มันคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่เรียกว่า ทีมไทยแลนด์
“ดร.รักษ์” บอกว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ Development Bank ไม่ใช่เพิ่งเริ่มในยุคที่เขาเข้ามาบริหาร แต่เริ่มมานานแล้ว ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับผู้บริหารของ EXIM BANK ทุกคน ที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดเป็นจริงได้ ทำให้เกิดการสานต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น ในความเป็น Development Banker เรื่องเหล่านี้มันอยู่ใน DNA ของนายธนาคาร EXIM BANK และในรุ่นของเขา ที่จะได้เห็นต่อไปในปี 2567 คืิอ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนคนตัวเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง
ผู้นำ EXIM BANK ท่านนี้ ได้นำแนวทาง ESG ซึ่งประกอบด้วย Environment, Social, และ Governance เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ เขาได้นำเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เข้ามาเชื่อมต่อกับการบริหารผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่แต่ละองค์กรทำได้ และได้รับการรับรองจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เรียบร้อย มาแลกเป็นส่วนลดดอกเบี้ยได้
“ถ้าคุณปลูกป่าได้ มีคาร์บอนอยู่ในมือเท่าไร ที่ อบก. verify แล้ว เอามาแลกเป็นเงินดอกเบี้ยกับ EXIM BANK ได้ จากราคาตลาด 5-6% ถ้า Go Green มาเอาดอกเบี้ยพิเศษกับ EXIM BANK ได้ ในอัตราไม่ถึง 5% นั่นคือการกระตุ้นที่ทำให้ทุกคน Go Green ไปกับเราได้”
สิ่งที่ “ดร.รักษ์” กำลังเดินหน้าในวันนี้ คือ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าสัว คนไซด์กลาง หรือคนตัวเล็ก สามารถอยู่กับ EXIM BANK ได้ EXIM BANK ไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อ แต่ผู้ประกอบการสามารถ Go Green ไปกับ EXIM BANK ได้ด้วย
ปีที่ผ่านมา EXIM BANK ออก Green Bond ตราสารหนี้สีเขียว หรือ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระดมทุนใช้กับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2567 จะออก Blue Bond หรือ ตราสารหนี้สีฟ้า ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ และถือเป็นเคพีไอขององค์กร ซึ่งมันยากกว่า Green Bond ขึ้นไปอีกนิด
นั่นคือสิ่งที่ “ดร.รักษ์” ต้องการจะบอกว่า EXIM BANK...go extra mile หรือยังไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567