ซีอีโอ BJC หวังอานิสงส์ท่องเที่ยวดันค้าปลีก 2566 ทะยาน

04 ม.ค. 2566 | 09:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 15:22 น.

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” CEO แห่ง BJC ประเมินแนวโน้มธุรกิจปี 2566 หวังอานิสงส์ท่องเที่ยว มาตรการรัฐ ดันค้าปลีกทะยาน

สถานการณ์ท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2566 นับเป็นแรงส่งอันทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจค้าปลีก” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาฟื้นตัวในครั้งนี้เช่นเดียวกัน

 

ที่ผ่านมา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ประเมินภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกของไทยในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวดีอยู่ที่ 11% ต่อปี คาดว่าภาพรวมตลาดจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.45 ล้านล้านบาท และในปี 2566 น่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง

 

ฐานเศรษฐกิจ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ภายใต้หัวข้อ CEO Outlook 2023 โดย นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 

 

พร้อมฉายภาพปัจจัยบวกและลบที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และการดำเนินธุรกิจในปี 2566 รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจนับจากนี้

 

ภาพประกอบข่าว บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

นายอัศวิน ระบุว่า ตลาดเริ่มฟื้นตัวจากโควิด เริ่มกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เห็นการเติบโตมาตลอด และปรับสูงขึ้นมากในไตรมาส 4 นอกจากเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยแล้ว การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เช่น จากตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เป็นต้น

 

ดังนั้นจึงส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้น และเชื่อว่าตลาดน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเทศกาล คริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ซึ่งปีนี้มาเร็วขึ้น รวมทั้งมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ ช้อปดีมีคืน น่าจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตได้ต่อไป รวมถึงการที่จีนกำลังจะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 2566 นี้ซึ่งเป็นผลบวกของการท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งหมด 

 

นายอัศวิน ระบุว่า ในส่วนของบิ๊กซี จะได้รับผลบวกค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมาเสริมนักท่องเที่ยวจาก ตะวันออกกลาง เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งปัจจุบันยอดขายของสาขาสำหรับนักท่องท่องฟื้นตัวกว่า 80% หากมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเข้ามาอีก คาดว่ายอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ภาพประกอบข่าว บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

ขณะที่เรื่องของค่าเช่า ก็มีการปรับตัวที่ดีขึ้นจากในไตรมาส 4 ปีก่อน และคาดว่าปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยในปีนี้บิ๊กซีจะมุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิม ที่บิ๊กซีมีสมาชิก Big Point อยู่มากกว่า 18 ล้านคน และการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ 

 

โดยอาศัยข้อมูลเพื่อนำเสนอสินค้า และ โปรโมชั่น ผ่านระบบ CRM ที่ลูกค้าต้องการได้มากที่สุด ผ่านทุกช่องทางซึ่งบิ๊กซีได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมพร้อมและปรับตัวต่อเนื่องมาตลอดโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์ใหม่ การปรับปรุงสาขาใหม่ เพิ่มจำนวนสาขาทั้งสาขาใหญ่ สาขาเล็ก เพิ่มร้านค้ารูปแบบใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันไป

 

ขณะเดียวกัน บิ๊กซี ยังได้วางแผนรองรับและขยายจำนวนสาขาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งใน กทม.และ ต่างจังหวัด อีกกว่า 50% ของสาขาที่มีอยู่ปัจจุบัน และเตรียมจัดสินค้าที่เป็นที่ต้องการและชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงการเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเริ่มเดินทางในต้นปีใหม่นี้แล้วด้วย 

 

เขามองภาพต่อจากนี้ว่า ในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มลูกค้าทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และคาเฟ่-จัดเลี้ยง และธุรกิจอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องกับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร 

 

อีกทั้งบิ๊กซี ยังสนับสนุนและเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอี เพื่อทำให้กลุ่มชุมชนแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังซื้อสำหรับประชากรระดับปานกลางถึงล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงการเข้าเป็นพันธมิตรกับธุรกิจโชห่วยผ่านร้านโดนใจ ทำให้ร้านค้าท้องถิ่นมีความสามารถในการเติบได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโตของบริษัท 

 

"จากสภาพเศรษฐกิจเพิ่งกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว ทั้งจากภาคธุรกิจ ร้านค้า และ ภาวะเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยที่อาจมีผลต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น มาตรการภาครัฐต่าง ๆ ในการช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ยังคงมีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป สำหรับห้างค้าปลีก ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟที่ปรับขึ้นมาก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ"

 

ก่อนหน้านี้ นายอัศวิน ระบุถึงทิศทางธุรกิจด้วยว่า แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2566 ตามแผน 5 ปี (2565-2569) ของบีเจซี บิ๊กซี ได้วางงบลงทุน 60,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ โดยสัดส่วน 70% จะทุ่มให้กับการสร้างอาณาจักรค้าปลีกที่ปัจจุบันห้างบิ๊กซีทุกแพลตฟอร์มมีนับพันสาขาทั่วประเทศ และอาเซียน