ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นหนึ่งในธุรกิจฟันเฟืองสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในปี 2565 ตลาดอสังหาฯ ก็ยังขยายตัวดี โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC ประเมินว่าในปี 2565 ภาพรวมตลาดอสังหาฯ โตกว่าปีก่อนถึง 87%
ส่วนภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2566 ก็ยังต้องลุ้นว่าจะขยายตัวได้มากแค่ไหน เพราะธุรกิจอสังหาฯ ยังต้องเจอปัจจัยเสี่ยงอีกสารพัด ทั้ง มาตรการ LTV หรือ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว
ที่ผ่านมา ฐานเศรษฐกิจ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงหลากหลายธุรกิจ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ภายใต้หัวข้อ CEO Outlook 2023 โดยสอบถามความคิดเห็น “จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมนำเสนอความคิดเห็นในมุมของผู้ที่อยู่ในธุรกิจอสังหาฯ
เริ่มต้นด้วยปัจจัยบวก และลบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และการดำเนินธุรกิจในปี 2566 รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจเศรษฐกิจไทย มุมมองของ “จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ” มีดังนี้
ปัจจัยบวก
อย่างแรกคือ กรณีประเทศจีน ซึ่งมีการผ่อนปรนนโยบาย Zero Covid และการกลับมาเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลในการค้า ระบบ Supply Chain ของโลกกลับมาดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์อย่างมากต่อการเปิดประเทศของจีนตามมาหลายเรื่อง ทั้ง
ด้านการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวหลักจากประเทศจีนหายไปมากกว่า 80% การกลับมาของนักท่องเที่ยวจะเป็นเงินมหาศาลที่เข้ามาสนับสนุนขับเคลื่อนกิจกรรมในประเทศ
เช่นเดียวกับด้านการค้า การเปิดประเทศของจีน จะเป็นการเปิดโอกาสให้ ธุรกิจการค้ารายย่อย ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบการผลิต รวมถึงการส่งออกไปยังจีน จะปรับตัวดีขึ้น เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมในประเทศ
อีกปัจจุบันที่คอยหนุนคือ กิจกรรมภายในประเทศ เพราะประชาชนมีการปรับตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะเกือบปกติ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2565 เป็นต้นมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน
อีกเรื่องที่น่าจับตา คือ การส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 8,325,090.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ 19.67% แต่การส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท หดตัว 4.4% สาเหตุจากอุปสงค์องประเทศคู่ค้าชะลอลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค
แต่ในปี 2566 ยังมีปัจจัยสนับสนุนค่าระวางเรือขนส่งสินค้าเข้าสู่สมดุล ปัญหาขาดแคลนคอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลายอุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิต และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยด้านการส่งออกได้ โดยเฉพาะสินค้าอาหารและภาคการเกษตร
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มคงที่ในแนวลบ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.55 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (จากเดือนกันยายนและตุลาคม) ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน
นอกจากนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมามีจำนวนเกิน 10 ล้านคน เมื่อธันวาคม 2565 และมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจขนส่ง ส่งผลให้เงินการลงทุนและการบริโภคในประเทศขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และอื่น ๆ
ปัจจัยลบ
สิ่งแรกที่ต้องเจอคือ ราคาพลังงานที่ผันผวนจากภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้ต้นทุนด้าน logistics จากต้นทางยุโรปยังสูง เช่นเดียวกับปัจจัยกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้วที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า และปัจจัยการตอบโต้จากรัสเซียต่อมาตราการ Price Cap ของชาติตะวันตก และมาตราการ Gas price cap ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือของสหภาพยุโรป
โดยในเดือนธันวาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) อยู่ที่ 76.53 ดอลลาร์/บาร์เรล จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2565
ขณะที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อกำลังซื้อในภาพรวมที่จะไม่ขยายตัวมากนักรวมถึงสภาพเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยภาคครัวเรือนที่ยังทรงตัว
สถานการณ์หนี้สาธารณะ ทำให้อัตราการใช้จ่ายต่ำ โดยมองว่า หนี้สาธารณะของไทยในปีงบประมาณ 2565 ขยายตัว 11.1% จากปี 2564 ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปีงบประมาณ2565 อยู่ที่ 60% จะทำให้รัฐบาลต้องเร่งเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อชำระหนี้สาธารณะในอนาคต
ส่วนค่าเงินบาทยังคงผันผวน เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนเดือนธันวาคมที่ประมาณ 34.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลังบรรดาธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตลอดปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
อีกมุมหนึ่ง คือ การท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวภายในประเทศได้รับผลกระทบบ้างอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่ม SME
การแข่งขันทางธุรกิจ
“จตุภัทร์” ยอมรับว่า ธุรกิจสีทาอาคาร เป็นธุรกิจที่สัมพันธ์กับภาคการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่ตลาดสีทาอาคาร ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับราคาน้ำมันและในตลาดการค้าของโลก ในขณะที่กำลังซื้อมีจำกัด จะส่งผลให้สินค้ากลุ่มที่ราคาไม่สูงมากนักจะเป็นทางเลือกที่สำคัญให้กับผู้บริโภค
โดยบริษัทสี ที่เป็นบริษัทต่างชาติ จะสามารถแข่งขันได้ลดลงเมื่อเทียบกับ บริษัทสี ผู้เล่นในประเทศ เนื่องด้วยผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต และความสามารถในการลงทุน การกำหนดราคาและผลกำไร เพื่อแข่งขันในตลาด
แต่มองว่ายังมีปัจจัยบวก คือ การที่ Developer ขยายการลงทุน โครงการก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวที่กำลังซื้อในตลาดระดับบนและระดับล่างยังคงมีความต้องการสูงในตลาด แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยลบควบคู่กัน ทั้ง อัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อบ้าน ราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาบ้านต้องขยับเพิ่มสูงขึ้น และ คอนโดมิเนียม ที่ยังมีอัตราการก่อสร้างลดลง เนื่องจากระดับสต็อกที่ยังคงมี และกำลังซื้อกลุ่มคอนโดที่ลดลง
แนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในปี 2566
ในด้าน กลยุทธ์ TOA ได้กำหนด Strategic Framework ซึ่งเป็นกรอบกลยุทธ์ระยะยาว ที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปข้างในปี 2566 ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงรอบด้าน โดยให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยมีการวางแผนการจัดการภายในทุกมิติ คือ
พร้อมกันนี้ TOA ได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมสีและวัสดุก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจ มีส่วนร่วมทำให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและสังคมน่าอยู่ โดยมีการวางแผนด้านกลยุทธ์ดังนี้
มุมมองต่อนโยบายภาครัฐ
ซีอีโอ TOA มองว่า จากนโยบาย LTR (long-term resident) Visa ช่วยกระตุ้นการเข้ามาของประชากรที่มีคุณภาพจากต่างประเทศหลังจากนโยบายเปิดประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้อัตราการซื้อขายอสังหาฯน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น
ขณะที่นโยบาย BCG (bio-circular green economy) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ (new s-curve) ทั้งในเรื่องการควบคุมดูแลเรื่อง climate change/ net zero/ carbon footprint ที่จะมีมาตรการด้านภาษี เพื่อกระตุ้นให้หน่วยธุรกิจมีความตื่นตัวด้านนี้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ส่วนการกระตุ้นตลาดรถ EV ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถ EV ในไทย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีหน้า
แต่อีกเรื่องใหญ่ คือ การเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นกลไกลด้านหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีการหมุนเวียนด้านการเงินในระดับรากหญ้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตามมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาล ส่งเสริม และสนับสนุน ทั้งมาตราที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายสู่ธุรกิจปลอดคาร์บอน ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม
เช่นเดียวกับส่งเสริมมาตรการทางภาษี เพื่อเอื้อให้เกิด Demand การปรับปรุงพัฒนาที่พักอาศัยมากยิ่งขึ้นของผู้บริโภค เช่น การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมไปถึงการควบคุมราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและขนส่ง