สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 แม้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายคนต่างออกมาประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะผจญกับความยากลำบากที่รุนแรงกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา และจะมีผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
ด้วยสถานการณ์ที่ยังเป็นกังวลอย่างนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงหลากหลายธุรกิจ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และทิศทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ภายใต้หัวข้อ CEO Outlook 2023
หนึ่งในนั้นคือ “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ได้ร่วมแสดงความเห็นอย่างน่าสนใจถึงปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2566 ดังนี้
ปัจจัยบวก
“ชาคริต” มองว่า เมื่อจีนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ประเทศไทยได้รับปัจจัยเชิงบวกจากจีนค่อนข้างมาก อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ ยังส่งผลให้เกิด Deglobalization หมายความว่า ทุกบริษัทต้องย้ายถิ่นฐานการผลิตให้มีหน่วยการผลิตไปอยู่ในประเทศที่สามารถ ผลิตสินค้าที่สามารถส่งในภูมิรัฐศาสตร์ไหนก็ได้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เปรียบเรื่องนี้
โดยตลาดอาคารชุดก็ยังได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เมียนมา ไต้หวัน และ ยุโรปบางประเทศ เป็นต้น
เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น มองว่ายังคงเป็นขาขึ้นแต่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นแรงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เนื่องจากหนี้ต่างประเทศของไทยไม่ได้สูงมาก และ FDI ของประเทศก็อยู่ในระดับสูง และ การส่งออกอาหารของไทยน่าจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีในในปีหน้า เนื่องจาก Global Supply Chain อาหารยังคงอยู่ในช่วงการปรับตัว
ปัจจัยลบ
จากการที่ภาครัฐมีนโยบายจะลดหนี้สินครัวเรือนออกจากระบบ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการดึงเงินออกจากระบบแน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบทางตรงน้อยกว่าภาคครัวเรือน เนื่องจากภาคธุรกิจไม่ได้มีหนี้สินในระดับสูงมาก
จริง ๆ แล้วภาพรวมของบริษัทไทยในสายตาต่างประเทศมองว่าบริษัทไทย Under Leverage อยู่แล้ว คือบริษัทไทยมีการใช้เงินกู้น้อย ในทางกลับกันหนี้สินภาคครัวเรือนกลับอยู่ในระดับสูง การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลรุนแรงกับภาคเอกชนเท่าไหร่ แต่จะส่งผลกระทบมากกว่าในภาคครัวเรือน เพราะว่า หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง
สำหรับผลกระทบแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนตัวเชื่อว่าภาคที่จะได้รับผลกระทบคือธุรกิจที่รายได้หลักมาจากระดับรากหญ้า แต่มีผลกระทบค่อนข้างจำกัดกับผู้ขายสินค้าให้กับคนที่มีรายได้ในระดับสูง
ส่วนแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในปี 2566 เชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจำนวนบ้านจัดสรรก่อสร้างใหม่ในเขตกรุงเทพ และ ปริมณฑลยังคงเติบโต โดยเฉพาะอสังหาฯที่เป็นบ้านราคาสูง
“อาคารชุดน่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกค่อนข้างมากจากการที่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลับมาเปิดประเทศเต็มตัว และ จากความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ เพราะไทยค่อนข้างมีความเป็นกลางในเรื่องดังกล่าวจึงเหมาะที่จะเป็นประเทศที่เป็น Second Home และ การกระจายฐานการผลิต และ การลงทุน”
ซีอีโอ CPANEL ระบุว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่กระจายการลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น CPANEL จึงพัฒนาระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง ลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต เพิ่มโอกาสการรับงาน และ ส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า และ การลดหนี้ออกจากระบบ น่าจะส่งผลกระทบบริษัทเล็กที่มี D/E ratio สูง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำจริงๆคือการระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ซึ่ง CPANEL ไม่มีปัญหาเพราะ D/E ratio ต่ำ รักษาการเติบโตของรายได้ และ Backlog อยู่ในเกณฑ์ดี
เขาทิ้งท้ายในสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อช่วยดูแลภาคธุรกิจให้สามารถเดินหน้าอย่างต่อเนื่องมีอย่างเดียวนั่นคือ อยากให้ภาครัฐพิจารณาการขยายนโยบาย LTV ออกไป หรือ ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอสังหาฯ ได้อีกด้วย