จากสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ และมีความกังวลว่าหากเกิดพายุซ้ำมวลน้ำก้อนใหม่เข้ามาอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ดังนั้นหนึ่งในแนวทางเร่งผลักดันน้ำให้เดินทางสะดวกคือการขุดลอกคูคลองรวมถึงการกำจัดผักตบชวาและวัชพื้นที่ขวางทางน้ำ
ต่อเรื่องนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ผักตบชวาขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณหนาแน่นตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ
ทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินเรือและการระบายน้ำ จึงสั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งรัดดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชตามแผนในปีงบประมาณ 2567 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในการเดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างปลอดภัย
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และตามคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาผักตบชวา
โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกรมเจ้าท่าดำเนินการในแม่น้ำสายหลัก ระยะทางรวม 349 กิโลเมตร ประกอบด้วย ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร, แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 50 กิโลเมตร
แม่น้ำน้อย ระยะทาง 42 กิโลเมตร, แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 67 กิโลเมตร, เขื่อนเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร และ แม่น้ำท่าจีนสายเก่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 14,748,900 บาท เพื่อกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 477,000 ตัน โดยผลการดำเนินงาน ณ เดือนกันยายน 2567 ดำเนินการได้ 298,535 ตัน คิดเป็นผลงาน 62.50%
ปัจจุบันเร่งดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาในหลายพื้นที่ ดังนี้
1.แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลโพแตง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.แม่น้ำลพบุรี ตำบลสวนพริก อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และ 3.แม่น้ำลพบุรี ตำบลบางขันหมาก อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
กรมเจ้าท่า จะดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตามแผนฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินเรือและการสัญจรทางน้ำให้เกิดความปลอดภัย
เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เป็นไปตามนโยบาย “ราชรถยิ้ม” ของนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ที่ต้องการขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสู่การปฏิบัติ ช่วยยกระดับภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ
ให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และครอบคุลมทุกความต้องการของประชาชน สมดั่งคำว่า “คมนาคมทางน้ำ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง