"สุริยะ-มนพร" ดัน 5 โปรเจ็กต์สมุย ชงครม.เคาะท่าเทียบเรือ Cruise Terminal ปี 67

24 ส.ค. 2567 | 09:23 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2567 | 09:31 น.

“สุริยะ - มนพร” ลงพื้นที่สมุย ดัน 5 โปรเจ็กต์คมนาคม เร่งขยายถนนเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว เตรียมดันท่าเทียบเรือ Cruise Terminal 1.2 หมื่นล้าน ชงครม.ปีนี้ ลุยตอกเสาเข็ม ปี 72

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันนี้ (24 สิงหาคม 2567)

เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของไทย และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างมาก

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอีกหลายด้าน ทั้งทางอากาศ ทางถนน และทางน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของ พื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงของกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างการดำเนินการ 3 สายทาง รวมระยะทาง 69.922 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้าง ทล.4142 ตอน บ้านใน - บ้านโฉ - ขนอม ระยะทาง 47.513 กม.

2.โครงการก่อสร้าง ทล.4014 ตอน คลองเหลง - ขนอม ระยะทาง 17.530 กม. และ 3.โครงการก่อสร้าง ทล.4170 ตอน สระเกศ - หัวถนน (ขยายเพิ่มช่องจราจรเต็มเขตทาง) ระยะทาง 16.346 กม.

ทั้งนี้การดำเนินการทั้ง 3 โครงการดังกล่าวนั้น เพื่อพัฒนาเส้นทางให้มีความสะดวกปลอดภัยในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญภายในเกาะสมุยไปยังท่าเรือเกาะแตน รองรับเส้นทางสะพานเชื่อมระหว่างเกาะสมุยกับบนฝั่งในอนาคต

อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีเส้นทางจักรยานส่งเสริมการออกกำลังกายในสถานที่ท่องเที่ยว

นอกจากนั้นยังได้ลงพื้นที่ถนนสาย ทล.4169 สายทางรอบเกาะสมุย ติดตามงานป้องกันและอำนวยความปลอดภัย หลังก่อสร้างแล้วเสร็จถนนสายนี้ในช่วงหน้าฝนเกิดหินและดินสไลด์ ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัย

ดังนั้นจากนโยบายของรัฐบาล จึงได้เร่งรัดจัดทำโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุย ระยะทาง 50 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จตลอดสาย และเปิดให้ประชาชนสัญจรแล้ว แต่ยังเหลืองานป้องกันและอำนวยความปลอดภัยที่ต้องดำเนินการต่อ

สำหรับพื้นที่จุดนี้ เนื่องจากในช่วงหน้าฝนมักเกิดเหตุหินและดินสไลด์กีดขวางเส้นทางสัญจร สั่งการให้ กรมทางหลวง เร่งรัดดำเนินการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างแนวป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยให้คำนีงถึงความสะดวกและปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ กรมทางหลวง เข้าศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของการจราจรภายในเกาะสมุย เพื่อแก้ปัญหา การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

ขณะเดียวกันให้ทางกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการเรื่องการปรับปรุงถนนทางเชื่อมต่อจากทิศตะวันออกมายังทิศตะวันตก โดยการนำข้อศึกษาเดิมนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

\"สุริยะ-มนพร\" ดัน 5 โปรเจ็กต์สมุย ชงครม.เคาะท่าเทียบเรือ Cruise Terminal ปี 67

โดยล่าสุดจะดำเนินการให้การดูแลของส่วนท้องถิ่นโอนย้ายมาให้ทางหลวงชนบทดำเนินการพัฒนาต่อไป นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ศึกษาและพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณแหลมหินคม เกาะสมุย มูลค่าการลงทุนรวม 12,172 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้เข้าจังหวัดและเข้าประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับการท่องเที่ยวเรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่าเกาะสมุย

ในแต่ละปีมีจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและประเทศชาติอย่างมหาศาล ซึ่งจากการวิเคราะห์โครงการพบว่า พื้นที่บริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม มีความเหมาะสมมากที่สุด

\"สุริยะ-มนพร\" ดัน 5 โปรเจ็กต์สมุย ชงครม.เคาะท่าเทียบเรือ Cruise Terminal ปี 67

ทั้งด้านวิศวกรรมที่มีกำบังคลื่นลมโดยธรรมชาติ อยู่ใกล้เขตน้ำลึก และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาท่าเรือ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง ไม่มีพื้นที่อ่อนไหว และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ส่วนด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค

ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของโครงการตลอดระยะเวลา 37 ปี มีความคุ้มค่าในการลงทุนด้านเศรษฐกิจ โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการประมาณ 46,000 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า 15%

นอกจากนี้ จท. ได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยมีเอกชนเป็นเจ้าของรายได้และเป็นผู้รับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการได้ในปี 2567 และเปิดประมูลภายในปี 2568 เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 และเปิดให้บริการในปี 2575