climatecenter

ธนาคารโลกย้ำ เร่งไทยเปลี่ยนสู่ Green Economy ชี้โอกาส 6.32 แสนล้านดอลลาร์

    ธนาคารโลกเผยประเทศไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ชี้โอกาสด้านการลงทุนทางการเงินเพื่อความยั่งยืนถึง 6.32 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมเสนอแนวทางผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นางเมลินดา กู๊ด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและประเทศเมียนมา กล่าวในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ว่า

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยมีเป้าหมายในอันใกล้ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573

เมลินดา เบรนด์เลอร์

"ด้วยเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว การสัมนาพูดคุยถึงเรื่องนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศจะต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างการกำหนดราคาคาร์บอน การสนับสนุนการลงทุน และการปฏิรูปนโยบาย" นางเมลินดากล่าว

ธนาคารโลกได้ประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 11 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสดึงดูดเม็ดเงินเพื่อความยั่งยืนสูงถึง 6.32 แสนล้านดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 23 ล้านล้านบาท)

หากสามารถบูรณาการมิติสำคัญต่างๆ เข้าด้วยกันในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

นางเมลินดาได้เสนอกรอบการทำงาน 4 ด้านเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ได้แก่ 

  • ด้านการเงิน  ธนาคารโลกได้ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อปลดล็อกแหล่งเงินทุนสีเขียว สีน้ำเงิน และคาร์บอน โดยออกแบบเครื่องมือกำหนดราคาคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งแบบบังคับ เช่น ภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซ และแบบสมัครใจผ่านตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการสร้างกลไกรวมกลุ่มการลดการปล่อยก๊าซขนาดเล็กและขายเครดิตคาร์บอนให้กับตลาดระหว่างประเทศ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาทั่วเมืองในประเทศไทย ซึ่งอาจสร้างมูลค่าเงินชดเชยสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี
  • ด้านกายภาพ ประเทศไทยมีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ โดยธนาคารโลกมองว่าน้ำท่วมรุนแรงอีกครั้งอาจทำลายมากกว่า 12% ของ GDP ของประเทศไทย ดังนั้น การสร้างความยืดหยุ่นและความพร้อมรับมือกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศจึงมีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณาแผนและความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ในการตัดสินใจลงทุน
  • ด้านกฎระเบียบ ธนาคารโลกยังสนับสนุนรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการลงทุนและเปิดการเข้าถึงตลาดสำหรับเทคโนโลยีใหม่แก่ผู้เล่นทุกราย รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับดัชนี Be Ready ของธนาคารโลกในปี 2569 ซึ่งจะต่อยอดจากดัชนี Doing Business เดิม นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญความท้าทายในการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ระดับโลก เช่น EU CBAM เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านคาร์บอนและการเข้าถึงตลาดโลก 
  • ด้านเทคโนโลยี การลงทุนในโซลูชันเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในภาคพลังงานมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างตลาดพลังงานที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งธนาคารโลกจะเผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจในเดือนมกราคม ที่จะมุ่งเน้นประเด็นนวัตกรรม การส่งเสริมผู้ประกอบการและ SMEs ในพื้นที่สีเขียวและทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกย้ำ เร่งไทยเปลี่ยนสู่ Green Economy ชี้โอกาส 6.32 แสนล้านดอลลาร์

นางเมลินดา ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกในอดีต เช่น การแก้ไขปัญหารูโหว่ในชั้นโอโซนผ่านสนธิสัญญามอนทรีออล ว่าด้วยเรื่องการควบคุมสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกการใช้สาร CFCs โดยที่ผู้บริโภคยังสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ตามปกติ และที่สำคัญประเทศไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกเครื่องทำความเย็นรายใหญ่อันดับสองของโลก

 

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

โดยการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองสามารถกระตุ้นทั้งการลดคาร์บอนและการปรับตัว  และสร้างเมืองที่ยั่งยืน น่าอยู่ และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น 

การร่วมมือของภาคเอกชนสำหรับการพัฒนาที่เน้นการขนส่งแบบคาร์บอนต่ำอาจสร้างรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 7.3 หมื่นล้านบาท)

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในเมือง เช่น รถโดยสารไฟฟ้า และสายรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการขนส่งซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยคาร์บอนที่สูงสุดแหล่งหนึ่งในประเทศไทย

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการเติบโตเฉพาะในกรุงเทพฯ ไปสู่การเติบโตในที่สมดุลและยั่งยืนมากขึ้นทั่วประเทศ

รวมถึงธนาคารโลกยังได้จัดตั้งศูนย์ภูมิภาคสำหรับความรู้และความร่วมมือระดับโลกในประเทศไทย โดยมีแพลตฟอร์มสามด้าน ได้แก่ การเงินที่ยั่งยืน เมืองที่ยั่งยืน และนวัตกรรม  เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วยการสนับสนุนทางเทคนิค การเงิน และการวิเคราะห์

นอกจากนี้ ธนาคารโลกกำลังจัดทำรายงานสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาประเทศสำหรับประเทศไทย เพื่อจัดทำแบบจำลองและการวิเคราะห์ที่จะช่วยรัฐบาลในการพัฒนานโยบายและส่งเสริมนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

และในอีกสองปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งนับว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย