ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยกำลังวางแผนเดินหน้าก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ หนึ่งในกลไกสำคัญที่ประเทศไทยกำลังพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก คือการกำหนด ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และ ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ซึ่งเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงมาตรการ ETS เข้ากับ ระบบคาร์บอนเครดิต ผ่านมาตรฐาน "Thailand Voluntary Emission Reduction" (T-VER) ที่ อบก.ดูแล
โดยในร่างพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ได้อนุญาตให้ใช้คาร์บอนเครดิตแปลงเป็นสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถใช้ชดเชยสูงสุดไม่เกิน 15%
หรือในอนาคตหากระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของประเทศไทยอนุญาตให้สามารถใช้คาร์บอนเครดิตได้แบบของประเทศสิงคโปร์จะช่วยเพิ่มความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปใช้เป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบจากภาษีที่ต้องจ่าย หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทันตามเป้าหมาย ทำให้กลไกนี้กลายเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จของตลาดคาร์บอนเครดิต โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนากฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับการนำภาษีคาร์บอนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษกิจว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการบรรลุเป้าหมายนี้ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบสำคัญคือ การมีมาตรฐานการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตของตนเอง นั่นคือ "Thailand Voluntary Emission Reduction" หรือ T-VER ซึ่งมีทั้งรูปแบบมาตรฐาน (Standard T-VER) และรูปแบบพรีเมียม (Premium T-VER)
มาตรฐาน T-VER นี้มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ามาตรฐานต่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีมาตรฐานของตนเอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ต้องพึ่งพามาตรฐานอิสระจากต่างประเทศ เช่น Gold Standard และ The Verified Carbon Standard (VCS)
ในแง่ของการมีศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประเทศไทยยังต้องเร่งพัฒนาเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตหลายแห่ง มาเลเซียที่มี Bursa Malaysia และอินโดนีเซียที่มี IDX
ในประเทศไทย การซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านศูนย์ซื้อขายเริ่มดำเนินการเมื่อปีที่แล้วโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ FTIX แต่ยังไม่ได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาล
การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบก. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. แสดงความยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้าน เช่น ความพร้อมของตลาด อุปสงค์และอุปทานของคาร์บอนเครดิต รูปแบบและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ รวมถึงกลไกการกำกับดูแล ระบบการซื้อขายที่เหมาะสม และนโยบายที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังต้องมีการศึกษาและปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศและภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการระยะหนึ่ง
ในส่วนของ อบก. ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรฐาน T-VER นั้น มีความพร้อมที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอุปทานของคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง น่าเชื่อถือ และโปร่งใส ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศ
ปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแบบ Over-the-Counter (OTC) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 99% ของปริมาณและมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ในขณะที่การซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขาย FTIX มีสัดส่วนน้อยกว่า 1%
ในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567) มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกว่า 700,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สร้างมูลค่าการซื้อขายและรายได้ให้กับผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตรวมมากกว่า 85 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังเป็นตลาดภาคสมัครใจ ทำให้อุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ การนำนโยบายภาคบังคับมาใช้ในอนาคตอาจช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้สูงขึ้นได้
การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของอาเซียนนั้น นอกจากจะช่วยดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนานโยบายและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง