climatecenter

"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

    "อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี" โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการอันยิ่งใหญ่ที่มอบให้แก่ราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงาม มีสกายวอล์คให้ได้ชมวิวอันตระการตา

ภายหลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่บ้านผาซ่อม ต.ผาเลือด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์  เมื่อปี 2500  และได้ให้กรมประชาสงเคราะห์(กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในปัจจุบัน) ดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่รองรับราษฎรที่อพยพโยกย้ายออกจากบริเวณพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์  

\"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

โดยได้จัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านขึ้นที่บริเวณท้ายน้ำของเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (Saddle Dam)   อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์  มีพื้นที่ประมาณ 143,000 ไร่ ราษฎรที่อพยพมาเมื่อปี 2512 มีจำนวน 3,276 ครอบครัว ได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้ครอบครัวละ 15 ไร่  ปัจจุบันมีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 6,856 ครอบครัว รวมเป็นประชากรประมาณ 24,501 คน 
 

 ราษฎรที่อพยพดังกล่าว ถือเป็นราษฎรที่เสียสละที่ดินตนเองเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 จึงมีพระราชดำริ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนสิริกิติ์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ในวันที่ 4 มีนาคม 2520  ให้จัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกให้กับราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพ 

\"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

กรมชลประทานน้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง   โดยเริ่มก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำจากอาคารระบายน้ำของเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำของเขื่อนสิริกิติ์   เพื่อส่งน้ำให้แปลงอพยพ  อย่างไรก็ตามพื้นที่แปลงอพยพมีสภาพสูง ต่ำ สลับกับเนินเขามีระดับความสูงต่ำแตกต่างกันมากถึง 125 เมตรทำให้ระบบท่อส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ส่งน้ำได้เพียงประมาณร้อยละ 5 ถึง10 ของพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น

อีกทั้งการจะสูบน้ำมาเพื่อพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่มากกว่า50,000ไร่มีราคาสูง ทำให้ชาว อ.ท่าปลาเกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภครุนแรง  โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง  และไม่มีน้ำเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลัก

ต่อมาในระหว่างนี้ในช่วงปี พ.ศ.2542-2546 ราษฎรบ้านห้วยต้าได้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยต้า ต.นางพญา อ.ท่าปลา  นอกจากนี้ยังมีตัวแทนสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน  ได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทางราชการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน

\"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

ระหว่างนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ และศึกษาข้อมูลต่างๆ ในเบื้องต้นเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือ พบว่ามีความเป็นไปได้ในการดำเนินการทางวิศวกรรม แต่พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1A ดังนั้นจึงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบในการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี   ซึ่งกรมชลประทานได้ทำการว่าจ้างศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการลงวันที่ 29 กันยายน 2548

\"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

การพิจารณารายงานการศึกษาทบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี    ได้มีการพิจารณาทบทวนในประเด็นต่างๆหลายต่อหลายครั้ง  ก่อนที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  พิจารณาเห็นชอบรายงานการศึกษาทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553  และให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กําหนดไว้

ต่อมา  เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชล ประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดอุตรดิตถ์  โดยมี แผนการดำเนินงานโครงการ 8 ปี (ปีงบประมาณพ.ศ.2554-2561) อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2564 ได้มีการอนุมัติขยายระยะเวลาโครงการ เป็น 15 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2568) 

\"ห้วยน้ำรี” แหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ความสมบูรณ์ของอุตรดิตถ์

นายยุทธนา มหานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งส่วน (Zone Type Dam) สูง 55 เมตร ยาว 440 เมตร ความจุ 73.70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พร้อมอุโมงค์ส่งน้ำยาวความยาว 1,831.59 เมตร และระบบส่งน้ำด้วยท่อความยาวรวม 250 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างฯ เฉลี่ย 100.9 ล้านลบ.ม.ต่อปี สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค – บริโภคของราษฎรบริเวณพื้นที่แปลงอพยพของเขื่อนสิริกิติ์จำนวน 6,856 ครอบครัว ประชากรรวม 24,501 คน  และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝนได้ 53,500 ไร่ ฤดูแล้ง 39,920 ไร่ มีหมู่บ้านได้รับประโยชน์จำนวน 60 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล ได้แก่ ต.จริม หาดล้า ท่าปลา ร่วมจิต น้ำหมัน ในเขตอำเภอท่าปลา และ ต.วังดิน หาดงิ้ว บ้านด่าน แสนตอ ในเขต อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์  

"โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ ราษฎรมีความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรมตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและมีรายได้เสริม และเมื่อโครงการ ฯ มีการปรับภูมิทัศน์เสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 ก็จะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นได้อีกด้วย”  ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3กล่าว

ในขณะที่ตัวแทนราษฎรในพื้นที่ นางสาววันทนา สุขประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวยืนยันว่า เมื่อครั้งอพยพมาที่ ต.จริม ในปี 2514 ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนาข้าว และทำสวนมะม่วงหิมพานต์  ใช้น้ำฝนทำเกษตรเป็นหลัก ถ้าปีไหนไม่มีฝนก็ไม่มีผลผลิตหรือได้น้อย ทำให้ขาดรายได้ น้ำที่นำมาใช้ในครัวเรือนต้องจ่ายเงินซื้อ แรงงานในพื้นที่จึงออกไปทำงานหารายได้ที่อื่น จนเมื่อมีการสร้างอ่าง ฯ ห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้พวกเรามีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี  ที่สำคัญได้ทำนาทุกปี บางปีทำนาได้ 2-3 ครั้ง  

นอกจากนี้เกษตรกรยังมีน้ำเพื่อการปลูกพืชสวนอื่น ๆ เช่น ทุเรียน และ อินทผาลัม ที่ตอนนี้เป็นสินค้าส่งออก มาตรฐาน OTOP ระดับ 5 ดาว รวมไปถึงมะม่วงหิมพานต์ก็มีเม็ดอวบขึ้น เนื่องจากได้น้ำเพียงพอ ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง เพิ่มความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก  อีกทั้งล่าสุดยังได้มีการสร้างสกายวอล์คห้วยน้ำรี จุดชมวิวโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกด้วย