environment

3 ขั้นตอนจัดการ ขยะ 3 ประเภท ช่วงน้ำท่วมช่วยลดมลพิษ

    น้ำท่วมสร้างปัญหาขยะล้นเมือง กรมอนามัย แนะแนวทางจัดการขยะ 3 ประเภทหลัก "ขยะเปียก-ขยะรีไซเคิล-ขยะชิ้นใหญ่" เพื่อการมีสุขอนามัยที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤติ

ขยะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาหลังสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทยในหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายลงซึ่งหากจัดการขยะมูลฝอยเหล่านั้นได้ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตามมาได้

ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่แนวทางการจัดการขยะเบื้องต้นกรณีบ้านที่ถูกน้ำท่วมเพื่อสุขภาวะที่ดีซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

1. ขยะประเภทเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค (ขยะเปียก) 

  • ให้รวบรวมเศษอาหาร รวมถึงกล่องโฟม และ ถุงพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ควรทิ้งลงแหล่งน้ำ
  • รวบรวมทิ้งลงในถุงขยะและมัดปากถุงให้แน่น
  • เก็บไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้านเพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์กัดแทะ
  • รอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 

กรณีที่ต้องกำจัดขยะในพื้นที่เอง 

  • ให้ขุดหลุมลึกประมาณ 1.5 เมตร โดยความกว้างของปากหลุมขึ้นอยู่กับปริมาณขยะ
  • นำขยะเปียกมาใส่หลุมทุกวัน
  • กลบด้วยดินหนาประมาณ 6 เซนติเมตร 

2. ขยะประเภทกระป๋องโลหะ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก 

  • ไม่ควรทิ้งลงแหล่งน้ำ
  • ให้แยกเก็บไว้เฉพาะ โดยเก็บรวบรวมไว้ในภาชนะบรรจุที่เหมาะสมเพื่อรอนำไปขายเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ 

3. ขยะประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ชุดรับแขก

  • ให้เก็บรวบรวมไว้
  • รอนำไปไปจัดการหรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างเหมาะสมเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ 

3 ขั้นตอนจัดการ ขยะ 3 ประเภท ช่วงน้ำท่วมช่วยลดมลพิษ

ที่มา : สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม