รายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลกระบุว่า ปริมาณคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในช่วงปี 2561-2565 โดยอยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี 2565 โดยมาจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานของเอกชน (เช่น VCS และ GS) มากที่สุด
ส่วนมาตรฐานระหว่างประเทศ และมาตรฐานภายในประเทศก็มีสัดส่วนการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ปัจจุบันทั่วโลกได้จัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิตภายในประเทศอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในระดับประเทศและระดับมลรัฐ โดยมักจะดำเนินการร่วมกับระบบ ETS หรือภาษีคาร์บอน เพราะกลไกราคาจะยิ่งสนับสนุนให้เกิดความต้องการคาร์บอนเครดิต
มองประเทศเพื่อนบ้านของไทย ในปี 2565 ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามได้เริ่มดำเนินการกลไกคาร์บอนเครดิตของตนเองแล้ว ในขณะที่อินเดียก็กำลังผ่านกฎหมายเพื่อจัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิต รวมถึงกลไก ETS ในประเทศด้วย
เมื่อพิจารณารายประเภทโครงการจะเห็นว่าคาร์บอนเครดิตของโลกมาจากการใช้พลังงานทดแทนเป็นหลัก หรือคิดเป็น 55% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตในปี 2565 อย่างไรก็ดี คาร์บอนเครดิตจากพลังงานทดแทนอาจมีความสำคัญลดลง เมื่อต้นทุนของการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนในองค์กรมีแนวโน้มต่ำลง ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ลงทุนด้านพลังงานทดแทนเองแทนการซื้อคาร์บอนเครดิต
ในทางกลับกัน คาร์บอนเครติตจากการดูดกลับและกักเก็บโดยธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า มีแนวโน้มจะทวีความสำคัญขึ้น สะท้อนจากโครงการที่ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2565 มาจากโครงการป่าไม้ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินถึง 54%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง