net-zero

“พิมพ์ภัทรา” ศึกษาโมดลธุรกิจญี่ปุ่นดันไทยสู่พลังงานสะอาด-อุตฯสีเขียว

    “พิมพ์ภัทรา” ศึกษาโมดลธุรกิจญี่ปุ่นดันไทยสู่พลังงานสะอาด-อุตฯสีเขียว มุ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการมุ่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ไปศึกษาดูงานโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ Eco R Japan จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) โดยเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี 

และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
 

สำหรับบริษัท Eco-R Japan นั้น มุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและสังคมไปสู่ความยั่งยืน

“พิมพ์ภัทรา” ศึกษาโมดลธุรกิจญี่ปุ่นดันไทยสู่พลังงานสะอาด-อุตฯสีเขียว

นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกับสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 
 

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

“พิมพ์ภัทรา” ศึกษาโมดลธุรกิจญี่ปุ่นดันไทยสู่พลังงานสะอาด-อุตฯสีเขียว

“กระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่างๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย” 
นางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)ร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี 

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) โดยเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

"ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กนอ. และ สกพอ. และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน"