net-zero

กยท.ดันพื้นที่แสนไร่ ปลูกยางขายคาร์บอน สร้างรายได้เพิ่ม 1.2 พันบาทต่อไร่

    กยท.เล็งดึงเกษตรกรร่วมโครงการปลูกยางพารา ขายคาร์บอนเครดิต 1 แสนไร่ทั่วประเทศ ในปี 2568 หลังขึ้นทะเบียน T-VER ในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่องแล้ว 4.3 หมื่นไร่ คาดเพิ่มรายได้ให้ชาวสวนยาง 1,200 บาทต่อไร่

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จึงได้ผลักดันนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผ่านการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ทั้งนี้ กยท.ได้จัดทำโครงการจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนในพื้นที่สวนยางพารานำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมพื้นที่ 43,481.35 ไร่ ได้แก่ จันทบุรี มีเกษตรกรเข้าร่วม 162 ราย พื้นที่ 10,010.83 ไร่ เลย มีเกษตรกรเข้าร่วม 528 ราย พื้นที่ 10,087.08 ไร่ และสุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรเข้าร่วม 1,609 ราย พื้นที่ 23,383.44 ไร่ เสนอต่อ อบก.เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันทั้ง 3 โครงการ ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร (FOR&AGI) จาก อบก.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนเครดิต โดยมีระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ 7 ปี (2566- 2573)

กยท.ดันพื้นที่แสนไร่ ปลูกยางขายคาร์บอน สร้างรายได้เพิ่ม 1.2 พันบาทต่อไร่

สำหรับโครงการจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนในพื้นที่สวนยางพาราทั้ง 3 พื้นที่นั้น มีการดำเนินกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญ ต่อความสามารถในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามระเบียบวิธีที่กำหนด โดยมีรูปแบบการปลูกเป็นสวนเชิงเดี่ยวที่มีการปลูก ดูแล และจัดการแปลงปลูกอย่างถูกวิธี

รวมถึงมีการใช้ปุ๋ย และ / หรือ สารปรับปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อบำรุงรักษาให้ต้นยางพาราในพื้นที่เดิมสามารถให้ผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง ไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับกรณีฐาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โครงการจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนในพื้นที่สวนยาง จังหวัดเลย เมื่อดำเนินโครงการครบ 7 ปี ของการคิดคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตรคาดว่าจะสามารถลด/กักเก็บ ก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณ ทั้งสิ้น 302,017.92 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเฉลี่ยปีละ 43,145 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ส่วนพื้นที่โครงการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อดำเนินโครงการครบ 7 ปี ที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคการเกษตร จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 699,353.94 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือเฉลี่ยปีละ 99,907.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะที่พื้นที่โครงการจังหวัดจันทบุรี ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 299,679.11 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า หรือเฉลี่ยปีละ 42,811.30 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 42,811 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

สำหรับคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะเป็นสิทธิของ กยท. โดยเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบตัวเงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้แก่เกษตรกรในสัดส่วน 90 % และกยท. 10 % ตามปริมาณคาร์บอนที่ได้รับในพื้นที่สวนยางพารา

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กยท.ยังมีแผนขยายผลไปยังไปสวนยางในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อม โดยปี 2568 เพิ่มอีก 1 แสนไร่ทั่วประเทศ พร้อมกับ “แจกโฉนดคาร์บอน” ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย

ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นสวนยาง Carbon neutrality ให้ได้ 10 ล้านไร่ภายในปี 2573 และภายในปี 2593 สวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านไร่ จะเป็นสวนยาง Carbon neutrality ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้ง กยท. จะพัฒนาองค์กรให้เป็นผู้ตรวจสอบประเมินคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อบก. อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 7 ปี จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท ซึ่งหากเกษตรกรมีสวนยาง 1 ไร่ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 4 ตัน ราคาขาย หากคิดอย่างตํ่าตันละ 300 บาท นำมาคำนวณ 4 ตัน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 1,200 บาท/ไร่ ถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกรจะได้รับจากพื้นที่สวนยาง นอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายนำประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป็นประเทศผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065