ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นอีกสถาบันการเงินหนึ่ง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม จากการสนับสนุนทางการเงินผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุน ได้กำหนดนโยบายเครดิตด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตามหลักปฏิบัติสากลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดประเภทของสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector-Specific Guidelines)
รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อจะได้รับการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดยมีเป้าหมายระยะสั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานในปี 2567 ให้ได้ 16.80% เมื่อเทียบปีฐาน 2563 จากปี 2566 ดำเนินการลดได้ 12.74 % และปี 2568 มีเป้หมายลดลง 21 % ปี 2569 ลดลง 25.20% และตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ใน Scope 1 & 2 ภายในปี 2573
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ธนาคารจึงได้กำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนไว้ 4 ด้าน ได้แก่
1.Green Operation เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำงานของธนาคาร(Scope 1-2) โดยติดตั้ง Solar Rooftop ที่อาคารหลักของธนาคาร 7 แห่ง ครบ 100% แล้ว ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1,037.97 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 200 สาขา ภายในปี 2569 จากปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 78 สาขา ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารมีสัดส่วการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นไปอยู่ที่ 12%
อีกทั้ง มีการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แล้วกว่า 180 คัน โดยเมื่อถึงปี 2573 การใช้รถยนต์ของธนาคารจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
2.Green Finance ธนาคารให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน จึงได้ทยอยกำหนดยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมในพอร์ตโฟลิโอไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติต้นนํ้า กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม โดยตั้งเป้าหมายไว้เมื่อถึงปี 2573 ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ การทำเหมืองถ่านหิน เป็นต้น
ขณะที่สินเชื่อและเงินลงทุน ในช่วงปี 2565-2566 ธนาคารได้ส่งมอบเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะปี 2566 มีการสนับสนุนด้านการเงินไปราว 46,986 ล้านบาท โดยในปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายสนับสนุนอีก 35,338 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดรวมสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท และในปี 2568 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนอีก 41,156 ล้านบาท และปี 2569 44,206 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2573 ธนาคารจะมีการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวราว 2 แสนล้านบาท
3.Climate Solutions ซึ่งธนาคารได้ส่งมอบโซลูชันที่มากกว่าบริการทางการเงิน ที่ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแพลต์ฟอร์ม WATT’S UP รองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมถึงบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 367 ราย โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีรุ่นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 10 รุ่น ขยายตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล
รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ปันไฟ” (Punfai) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ธนาคารนำประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการวัด Carbon Footprint ของธนาคาร มาใช้เพื่อเตรียมพัฒนาโซลูชันใหม่ที่จะช่วยผู้ประกอบการเรื่องการวัดผล รายงาน และตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon MRV) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล
4.Carbon Ecosystem ธนาคารเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อ Carbon Ecosystem เพื่อพัฒนาบริการในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิต สำหรับการชดเชยคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มฯ เพื่อส่งเสริมคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ และร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่เป็นความร่วมมือกับ Innopower เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้
รวมถึงธนาคารได้ศึกษาและเตรียมแนวทางในมิติอื่น ๆ ของระบบนิเวศด้านคาร์บอนเครดิต เช่น การเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) การออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization) เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน