net-zero

ซีอีโอบางจาก แนะผนึกอาเซียนต่อรองยุโรป ลดจ่ายภาษีคาร์บอน

    ซีอีโอบางจาก แนะผนึก “อาเซียน” ต่อรองยุโรป ลดจ่ายซ้ำซ้อน “ภาษีคาร์บอน” แนะธุรกิจปูพื้นรับเศรษฐกิจสีเขียว ทำบัญชีคาร์บอน ปรับปรุงองค์กร

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสวนาเรื่อง "Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ" ในงาน FPO Symposium 2024 "Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียว นโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว" ว่า

การสนับสนุนให้ลงทุนคาร์บอนต่ำนั้น เป็นการสร้างการแข่งขันภายในประเทศ ซึ่งหากแข่งขันไม่ได้ ปี 2030 จะถูกกีดกันการค้าจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป  หรือ C-BAM

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สำหรับการที่เราจะมีคาร์บอนเครดิตนั้นประเทศ ในยุโรปไม่ได้นับรวมด้วย ต้องไปตั้งต้นในประเทศเขาใหม่ ฉะนั้น ในด้านการจัดทำภาษีคาร์บอน จึงมองว่าตราบใดที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไปต่อรองกับยุโรป ความสามารถของเราก็สู้เขาไม่ได้ ฉะนั้น จึงอยากผลักดันให้ประเทศไทยร่วมกับอาเซียน เพื่อไปต่อรองกับยุโรป ให้สามารถเสียภาษีคาร์บอนในประเทศและไปหักลบกับยุโรปได้

“เมื่อรวมประชากรในอาเซียนมีกว่า 600 ล้านคน ที่จะไปต่อรองกับยุโรป ซึ่งมีประชากรเพียง 300 ล้านคน รวมทั้งขนาดเศรษฐกิจเราเมื่อรวมกันแล้ว ก็จะสามารถต่อรองสู้กับเขาได้  ซึ่งเราจะมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ แล้วจะไม่เสียภาษีซ้ำซ้อนด้วย”

ทั้งนี้ มองว่าองค์กรใหญ่ๆ หลายแห่ง สิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อปูพื้นสำหรับการรับมือกับเศรษฐกิจสีเขียว คือ การทำบัญชีคาร์บอน โดยบางจากเริ่มทำตั้งแต่ปี 2011 กระทั่งมีมาตรฐาน ISO 14064 ในปี 2019 สามารถวัดได้ว่าใน 1 ปี องค์กรปล่อยคาร์บอนได้กี่ตัน จะทำให้ธุรกิจมีเป้าหมาย และหาวิธีว่าจะลดคาร์บอนได้อย่างไร

“ขอยกตัวอย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG มีการผลิตปูนซีเมนต์โดยใช้พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ โดยเขาสามารถเคลมได้ว่าเป็นซีเมนต์ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ฉะนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า มาตรการรัฐในการสนับสนุนทางด้านภาษี เป็นการเตรียมให้เอกชนมีโอกาสเตรียมตัวก่อน สามารถสู้กับประเทศที่รวยแล้วได้”

ขณะที่วิธีการปรับปรุงองค์กร เพื่อไปสู่ เน็ตซีโร่ 2050 คือ ทุกคนจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การใช้พลังงานจะต้องลดคาร์บอน 30-40% ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุดในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เช่น การลดความเย็นของแอร์ โดยสามารถทำได้จริง หากลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น จะสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้จำนวนมาก