net-zero

กระทรวงเกษตรฯลุยข้าวลดโลกร้อน ดันยางแสนไร่ขายคาร์บอนเครดิต

    ข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและนาปรังเฉลี่ยปีละ 70-71 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ มีผลผลิตข้าวเปลือก 31-32 ล้านตันต่อปี คิดเป็นข้าวสารราว 20 ล้านตัน

ปัจจุบันการทำนาของเกษตรกรเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตข้าวต่อไร่ตํ่า และต้องเผชิญปัญหานํ้าท่วม นํ้าแล้ง ทำให้ภาพรวมชาวนาไทยยังยากจน และยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานจากชาวนาส่วนใหญ่ในเวลานี้เป็นผู้สูงอายุ มีทายาทสืบทอดอาชีพน้อย

กระทรวงเกษตรฯลุยข้าวลดโลกร้อน ดันยางแสนไร่ขายคาร์บอนเครดิต

ขณะที่การทำนายุคใหม่ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งชาวนาต้องปรับตัว และในการแข่งขันส่งออกข้าวในปัจจุบัน นอกจากแข่งขันกันด้วยราคา และคุณภาพแล้ว ยังต้องใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก และช่วยลดโลกร้อนด้วย ซึ่งการทำนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขายข้าวรักษ์โลกกำลังเป็นเทรนด์ใหม่และเป็นที่ต้องการของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างยุโรป และอเมริกา

ถือเป็นจุดขายใหม่ที่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลกกำลังแข่งขันในการพัฒนาข้าวคาร์บอนตํ่า เพื่อส่งขายในตลาดโลก ที่คาดหวังจะได้รับราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวียดนาม ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวราว 47 ล้านไร่ ผลิตข้าวเปลือกได้ปีละประมาณ 42 ล้านตัน คิดเป็นข้าวสารประมาณ 30 ล้านตัน ได้มีแผนปฏิบัติการในการทำนาลดก๊าซเรือนกระจก(GHG) มีเป้าหมาย 1.7 ล้านเฮกตาร์ หรือ 10.7 ล้านไร่ เพื่อลด GHG ลง 6.5 ล้านตันคาร์บอนในปี 2030 (2573) จากที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบันประมาณ 30 ล้านตันคาร์บอนต่อปี

กระทรวงเกษตรฯลุยข้าวลดโลกร้อน ดันยางแสนไร่ขายคาร์บอนเครดิต

ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ใน 7 พืชเศรษฐกิจนำร่องได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มนํ้ามัน ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง ในส่วนของ “ข้าว” รัฐบาลมีนโยบายและแผนในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำนาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งในภาพรวมยังมีก้าวหน้าไม่มากนัก

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการผลักดันการปลูกข้าว และพืชเกษตรอื่น ๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมสนับสนุนเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิตเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งยอมรับว่ามีหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าไทย เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งคือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยยังเป็นภาคสมัครใจ ไม่ได้เป็นภาคบังคับทำให้แรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการยังมีไม่มาก

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 “ต้องเรียนว่าตราบใดที่เรายังเป็นภาคสมัครใจ ยังไม่ได้เป็นภาคบังคับ ในการที่จะดำเนินการลดภาวะก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคอื่น ๆ ทั้งหลายให้เป็นศูนย์ ก็จะทำให้ไม่มีดีมานด์ที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศมากนัก และราคาคาร์บอนเครดิตก็จะยังไม่สูง”

อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะหากวันหนึ่งเริ่มกลายเป็นภาคบังคับ ระบบก็ต้องมีความพร้อม ภาครัฐเองต้องเข้าไปช่วยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีกรมวิชาการเกษตรที่เริ่มศึกษาแปลงสาธิต และมีพื้นที่นำร่องในโครงการปลูกยางขายคาร์บอนเครดิตของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วม 100,000 ไร่ในปี 2568 (เป้าหมายสร้างรายได้เพิ่ม 1,200 บาทต่อไร่)

ทั้งนี้จะดำเนินการในแปลงทดลอง ในการวางระบบ การเก็บข้อมูล และคำนวณคาร์บอนเครดิตซึ่งเริ่มมีข้อมูลแล้วระดับหนึ่ง และเกษตรกรก็ตระหนักและรับรู้แล้วว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ไม่ได้มาฟรี ๆ ทั้งนี้จะมีประโยชน์มาก หากทุกอย่างกลายเป็นภาคบังคับ ความต้องการซื้อขายจะเพิ่มขึ้น และจะทำให้คาร์บอนเครดิตมีราคาสูงขึ้นแน่นอน