นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวในหัวข้อ “Carbon Tax: Advatage for Future Growth” ในงานสัมนา "Generating a Cleaner Future" จัดโดยบีไอจี และกรุงเทพธุรกิจ ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และวางเป้าหมายมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero ในปี 2065
ทั้งนี้ ปัจจุบันยุโรปมีกฎกติเรื่องการเก็บภาษี หรือค่าธรรมเนียม ในการข้ามพรมแดน (C-BAM) ตอนนี้การส่งออกไปยังยุโรปต้องรายงานสินค้า 6 ชนิด อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ และไนไตรเจน เป็นต้น และอีกปีกว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมจริง ซึ่งจะกระทบประเทศไทยอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในปีถัดมาออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว ส่วนสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้มีแผนที่จะดำเนินการ แต่เมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดีแล้ว อาจจะเปลี่ยนใจ ซึ่งต้องรอติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างมาก ประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป เริ่มบังคับให้ซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่ในการผลิต รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะดูว่าธุรกิจใช้พลังงานสะอาดหรือไม่
ขณะที่ประเทศไทย ตอนนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 372 ล้านตันคาร์บอน ประมาณ 70% อยู่ในภาคพลังงาน และการขนส่ง ส่วน 15% ภาคการเกษตร และ 10% เป็นภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากในปี 2030 ไม่มีการดำเนินการอะไรเลย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นเป็น 555 ล้านตันคาร์บอน
นานเอกนิติ กล่าวว่า เมื่อมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กรมสรรพสามิตจึงจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยสามารถทำได้ทันที ซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าภาษีคาร์บอนนั้น ดำเนินการภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่
“ประเทศไทยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 แต่วันนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยเป็นภาคสมัครใจ ยังไม่มีราคากลางคาร์บอนเครดิต แต่กฎหมายภาคบังคับเรายังไม่มี ฉะนั้น สิ่งที่สรรพสามิตสามารถทำได้เลยทันที คือ การแปลงภาษีน้ำมันมาใช้ในการจัดเก็บคาร์บอนแท็ก“
สำหรับภาษีคาร์บอนนั้น สรรพสามิตใช้โมเดลของประเทศญี่ปุ่น ใช้ภาษีน้ำมันเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้คาร์บอนแท็กอยู่ในนั้น และมีแนวคิดที่จะเสนอใช้ราคาคาร์บอน 200 บาทต่อตันคาร์บอน เช่น น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร โดย 55 สตางค์นั้นแฝงอยู่ใน 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งระยะแรกไม่ได้มีผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำมันไปหลอมเหล็ก เพื่อส่งออกไปยังยุโรป ส่วนนี้สามารถนำใบเสร็จไปหักกลบกับ C-BAM ได้ ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะไปจับมือกับค่ายน้ำมันต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ว่าทุกครั้งที่เติมน้ำมันปล่อยคาร์บอนไปเท่าใด เป็นต้น
“จากตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 372 ล้านตันคาร์บอน ในนั้นเป็นภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่แล้ว ประมาณ 37% ฉะนั้น การแปลงภาษีให้เชื่อมโยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบีบให้ภาคธุรกิจปล่อยคาร์บอนลดลง เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ เฟสแรกเราจะไม่ให้กระทบประชาชน ในช่วงปี 2025-2026 ส่วนอนาคตที่ประเทศไทยพร้อม หรือถูกบีบจากนานาชาติสามารถขยับจากส่วนนี้ได้ทันที”
นายเอกนิติ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วภาคธุรกิจจะต้องหาโอกาสจากส่วนนี้ โดยธุรกิจจะต้องวัดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร เพื่อนำมาสู่เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วจะมีโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ขณะเดียวกัน ในมุนมองของลูกค้าก็จะมีโอกาสเข้าไปถึงลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น และเมื่อปรับไปสู่กรีนแล้ว ต้นทุนในการผลิตก็จะถูกลง มีโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งต้องทำให้องค์กรตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง