new-energy

“บ้านปู” เล็งผสมแอมโมเนีย ลด CO2 โรงไฟฟ้า BLCP รอ กฟผ.ไฟเขียว สั่งเดินหน้า

    บ้านปู เดินหน้า Net Zero ดันพลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าปี 2568 กำลังผลิตพุ่ง 1.1 พันเมกะวัตต์ ลุยโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ในประเทศ ปูพรมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอินโดนีเซีย พร้อมรอ กฟผ.ไฟเขียว ผสมแอมโมเนีย 10% ร่วมกับถ่านหินโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ได้วางกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบบูรณาการ เพื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ผ่านการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน โดยกำหนดทิศทางการดําเนินธุรกิจไปข้างหน้าในปี 2573 มุ่งเน้นการสร้างพอร์ตธุรกิจที่พร้อมสําหรับการเปลี่ยนแปลงและการรับมือกับความผันผวน ทั้งการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ด้วยการเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

1.ธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) จะเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของการดําเนินงาน คุณภาพการผลิต การลดคาร์บอน และการลดต้นทุน โดยตั้งเป้าลดต้นทุนในธุรกิจเหมืองที่ 1.5 - 3.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และจะไม่มีแผนการลงทุนใหม่ในธุรกิจเหมืองถ่านหิน พร้อมขยายการลงทุนไปยังเหมืองแร่อื่น ๆ ที่จะมีความสําคัญต่อการใช้พลังงานในอนาคต เช่น นิกเกิ้ล ทองแดง และทองคํา เพื่อเสริมห่วงโซ่คุณค่าในธุรกิจแบตเตอรี่

ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ตั้งเป้าลดต้นทุนที่  0.06 - 0.07 ดอลลาร์สหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต และจะเน้นความยั่งยืนเป็นหลัก โดยการลลและการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินงานผ่านโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) สู่การเป็น Green Gas Value Chain ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Sequestered Gas: CSG) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1 2 และ 3 ภายในปี 2573
“บ้านปู” เล็งผสมแอมโมเนีย ลด CO2 โรงไฟฟ้า BLCP รอ กฟผ.ไฟเขียว สั่งเดินหน้า

ปัจจุบันบ้านปูได้เข้าไปลงทุน CCUS ในสหรัฐอเมริกา 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุด 210,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และโครงการ “Cotton Cove (คอตตอน โคฟ)” มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดที่ 45,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

รวมถึงโครงการ High West (ไฮเวสต์) ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา โดยบ้านปูวางเป้าหมายที่จะบรรลุการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ประมาณ 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีภายใน 2573

นอกจากนี้ ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทย่อย BKV ของบ้านปูในสหรัฐอเมริกา BKV ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง จากการดำเนินโครงการ CCUS กับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc. และ Kiewit Infrastructure South Co. คาดว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2567

อีกทั้ง โครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 ถือเป็นก้าวสำคัญที่ BKV จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นนํ้าและกลางนํ้าในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง ซึ่งจะส่งผลให้ BKV ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยตรงและทางอ้อม จากการใช้พลังงานหมุนเวียน และการดำเนินโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งของบริษัทและของบริษัทอื่น ๆ

2.ธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) มองหาโอกาสการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจการซื้อ-ขายไฟฟ้าในภูมิภาคที่มีการเติบโต โดยปัจจุบันบริษัทมีกําลังการผลิตไฟฟ้ารวมราว 4,911 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ตามสัดสัวนการลงทุน 4,008 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดสัวนการลงทุน 903 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2568 กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 6,100 เมกะวัตต์ เป็นในส่วนของพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,100 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย อย่างต่อเนื่อง

3.ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) แสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ที่กําลังเติบโต (New S-curve) เพิ่ม เช่น การพัฒนาธุรกิจรากฐานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แบตเตอรี่ Value chainซึ่ง มีทั้งการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ฟาร์ม ลงทุนในธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ทั้งในประเทศจีนและไทย มีวัตถุประสงค์ ในการเพิ่มความสามารถในการผลิตถึง 6 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในปี 2568 จากปัจจุบันบริษัทฯ มีกําลังการผลิตรวมราว 5 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh)

นอกจากนี้ จากที่บ้านปูประสบความสำเร็จศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำแอมโมเนียสัดส่วนราว 10% มาผสมใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงถ่านหินที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง ขนาดกำลังผลิต 1,434 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องไปแล้วนั้น ที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องไปทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อขออนุมัติในการนำแอมโมเนีย นำเข้าจากอินโดนีเซีย มาผสมเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบอยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากแอมโมเนีย ที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซียมีราคาแพง ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า นำไปคำนวณเป็นค่าเอฟที ส่งผ่านเป็นค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เป้าหมายของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียยของบ้านปู ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการดำเนินงาน ที่คาดว่าเป้าหมายกำลังการผลิตในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นไปถึง 1,200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 903 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตส่วนใหญ่จะมาจากความคาดหวังจากการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ระยะที่ 2 หรือโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ที่มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมสำหรับพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ เป็นลำดับที่ 2 รวมปริมาณไฟฟ้า 2,180 เมกะวัตต์

รวมถึงการบุกตลาดการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop PPA) ในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Solar Rooftop PPA) แล้ว จำนวน 10 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินโดนีเซียแล้วราว 32.3 เมกะวัตต์