sustainability

“พิมพ์ภัทรา" ยึดโมเดลญี่ปุ่นพัฒนา "นิคมอุตสาหกรรม Circular" ดูดทุนต่างชาติ

    “พิมพ์ภัทรา" ยึดโมเดลญี่ปุ่นพัฒนา "นิคมอุตสาหกรรม Circular" ดูดทุนต่างชาติ เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะรถยนต์ EV ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ตอบโจทย์โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย

ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำลังร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะรถยนต์อีวี (EV) ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทย  

โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular จะตอบโจทย์ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี (EEC) และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
 

นอกจากนี้ ยังจะไปหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน 

“พิมพ์ภัทรา" ยึดโมเดลญี่ปุ่นพัฒนา "นิคมอุตสาหกรรม Circular" ดูดทุนต่างชาติ

อีกทั้ง ยังจะดูกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์และการกำจัดของเสียในโรงงานของบริษัท Eco-R Japan และศึกษาเทคโนโลยีของบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และดูกระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ของบริษัท J-Relights และกระบวนการรีไซเคิล แผงโซล่าเซลส์ บริษัท Shinryo Corporation 

อย่างไรก็ดี ยังไปศึกษาดูงานเมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ รวมทั้งหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model
 

“การไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2566 โตถึง 1.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไทย โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนถึง 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท