In Brief
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอด Supply Chain ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง ไปจนถึงการส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า ภายในงาน SANSIRI ECOLEADER FORUM: Change Today, Chance Tomorrow
งานนี้ได้เปิดโอกาสให้พูดคุยถึงประเด็นการรับมือกับภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ร่วมขับเคลื่อน Green Ecosystem เพื่อการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตและเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง ร่วมรับฟังร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายในงานว่า ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ แสนสิริ และ Green Leadership ที่จะร่วมมือกันปรับธุรกิจตามแนวทาง ESG เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเติบโต
แสนสิริจึงได้นำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานของบริษัทอย่างจริงจัง พร้อมสนับสนุนให้ Green Partner เติบโตไปด้วยกัน เพื่อร่วมมือผลักดันทุกอุตสาหกรรมไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แสนสิริได้วางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2025 โดยปัจจุบันทำได้แล้ว 15% ในปี 2023 แผนระยะกลางที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2033 และแผนระยะยาวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050
รวมถึง ยังให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบ้านและคอนโดที่ส่งมอบให้กับลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
นอกจากนี้ ได้นำโมเดล Green Supply Chain นี้มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งสามด้าน ได้แก่ Green Architecture and Design, Green Construction และ Green Procurement รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ราย ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างมูลค่าราว 1.05 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ในจีดีพี
โดยโมเดลนี้จะมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกันกับแสนสิริ แม้ในช่วงแรกเริ่มจะมีต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว การดำเนินธุรกิจของทุกส่วนทั้งแสนสิริและคู่ค้า จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเมื่อเกิด Economy of Scale
รวมถึง สร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนไปของโลก การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้น
นางสาวศรีอำไพ รัตนมยูร ประธานผู้บริหารสายงานการตลาด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า แสนสิริได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบตามแนวคิด Design for Future โดยมี Design for Sustainability การออกแบบเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในแกนการออกแบบที่สำคัญ โดยผสานแนวคิดความเข้าใจธรรมชาติ เพื่อต่อยอดในงานออกแบบ
รวมถึง การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้จริง โดยมีตัวอย่างโครงการและแนวคิดได้แก่ โครงการ Waste to Worth ที่นำเศษวัสดุ อาทิ หินอ่อน กระเบื้อง ไม้ จากการสร้างบ้านมาต่อยอดใช้ประโยชน์อีกครั้ง การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์
ด้านนายองอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาโครงการแนวสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในส่วนของการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง แสนสิริและคู่ค้าได้คำนึงถึงประเด็นนี้ และได้หาแนวทางและปรับกลไกการทำงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงทางธุรกิจในอนาคต
โดย แสนสิริมีโรงงานพรีคาสท์สีเขียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO9001 & ISO14001 และฉลากเขียวจากกระทรวง สามารถลดขยะภายในโรงงานได้มากถึง 98% มีกำลังการผลิต 1,500,000 ตร.ม. ต่อปี และสามารถผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 3,700 ยูนิต/ปี
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เช่น ระบบ BIM และการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อติดตามความก้าวหน้าและบริหารจัดการทรัพยากรของโครงการ รวมถึงการตั้งเป้าหมายลดผลกระทบจากงานก่อสร้าง โดยลดขยะก่อสร้างภายในไซต์งานลง 15% และกำหนดใช้วัสดุ Low Carbon 30% ในข้อกำหนดโครงการ (TOR)
ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำ Dashboard เก็บข้อมูลและจัดการขยะในไซต์ก่อสร้าง เพื่อวิเคราะห์และวัดผล ตลอดกระบวนการดำเนินงาน และนำไปพัฒนาในองค์กรต่อไป
นายประเสริฐ ตระการวชิรหัตถ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อส่วนโครงการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในส่วนของการจัดซื้อ แสนสิริให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัสดุที่นำมาใช้ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การผ่านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด วัสดุบางประเภทต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบและรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ แสนสิริยังสนับสนุนการใช้วัสดุที่มีการรับรองจากองค์กรอื่น ๆ หรือการรับรองด้วยตัวเอง (Self-Certified) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกกระบวนการในการพัฒนาโครงการจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในปี 2566
โดยที่ผ่านมามีการตั้งเป้าหมายการจัดซื้อวัสดุที่มีการรับรอง Self-Certified 30% ซึ่งปัจจุบันบรรลุเกินกว่าเป้าหมายที่มีการจัดซื้อวัสดุดังกล่าวที่ 53% รวมถึงการวัดผลและติดตามผลที่จริงจัง เพื่อนำมาคำนวณในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
นอกจากได้รับฟังวิสัยทัศน์ของแสนสิริ ภายในงานยังได้จัดให้รับฟังข้อมูลพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทของ SME ที่จะมีส่วนในการร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัว และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญในส่วนของภาคธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมถึง พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีส่วนในการช่วยปรับเปลี่ยนธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เท่าทันกระแสการบริโภคและการค้าที่ยั่งยืน
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนมีพื้นฐานจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) โดยมีแนวคิดให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
ซึ่งสอดคล้องกับ ESG ที่ต้องขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยภาวะความเป็นผู้นำที่ดี (Leadership) และใช้ประโยชน์นวัตกรรม (Innovation) นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยร่วมกันในทุกระดับองค์กร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการเพิ่มคุณค่ากับระบบนิเวศธุรกิจที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมพอเพียงเพื่อความยั่งยืน (Sufficiency for Sustainability)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง