sustainability

SET ดึง FTSE Russell ยกระดับการประเมินความยั่งยืน บจ. ไทยสู่มาตรฐานโลก

    SET ผนึกกำลังตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange Group) ดึง FTSE Russell ผู้ประเมิน ESG ระดับโลกหวังพัฒนาศักยภาพการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings ตลาดทุนไทยสู่มาตรฐานสากล วางเป้าปี 69 บจ. ไทยรับการประเมินเพิ่มเป็นกว่า 400 บริษัท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยได้ยกระดับความเข้มข้นในการประเมิน SET ESG Ratings สู่มาตรฐานสากล เพิ่มความน่าสนใจให้แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ศึกษาแนวทางการประเมิน ESG สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยมาตั้งแต่ปี 2565 และได้ข้อสรุปร่วมกับ FTSE Russell (บริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน หรือ LSEG) ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุนสถาบันและ Asset managers ชั้นนำทั่วโลกโดยมีมูลค่าทรัพย์สินกองทุน (AUM) สูงถึง 15.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงดัชนี FTSE 
อยู่ในปัจจุบัน)

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การประเมิน SET ESG Ratings ในปัจจุบันเป็นภาคสมัครใจ โดย บจ. ต้องสมัครเข้าร่วมการประเมิน และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์และกระบวนการประเมิน โดยบริษัทต้องผ่านเกณฑ์ทั้งด้านคะแนนจากการตอบแบบประเมินและด้านคุณสมบัติ

ในขณะที่กระบวนการประเมินแบบใหม่โดย FTSE Russell จะเน้นการการประเมินจากข้อมูลที่ บจ. เปิดเผยสู่สาธารณะ (public disclosure) ซึ่งเป็น Methodology เดียวกันกับที่ประเมินบริษัทกว่า 8,000 แห่งใน 47 ประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ยกระดับความโปร่งใสของการประเมิน อีกทั้งยังลดภาระการตอบแบบประเมินความยั่งยืนของ บจ. และช่วยให้ บจ. มีกรอบการดำเนินงาน ESG ตามมาตรฐานสากล

ขณะเดียวกันผู้ลงทุนยังสามารถเปรียบเทียบผลประเมินกับบริษัททั้งในและต่างประเทศได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ FTSE Russell ซึ่งอยู่ภายใต้ London Stock Exchange Group ยังมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ Code of Conduct สากล โดย FTSE ESG Data Model ถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการอิสระ ที่ประกอบด้วยภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน NGOs และนักวิชาการ แนวทางและวิธีการประเมินจึงสะท้อนมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนและหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และ FTSE Russell เป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยที่จะช่วยส่งเสริมให้ บจ. ไทยพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสู่ระดับสากล และสนับสนุนให้ผู้ลงทุนพิจารณา ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุนตามเทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืน

วิธีการประเมินของ FTSE Russell จะเป็นการนำเอาข้อมูลที่ถูกเปิดเผยสาธารณะ (Public disclosures) มาใช้ประกอบการประเมิน ซึ่งจะมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือมากขึ้น มุมมองการประเมินประกอบด้วย การประเมินจากนโยบาย กลยุทธ์ กระบวนการ และการติดตามวัดผล โดยเน้นที่ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งยังช่วยลดภาระให้แก่บริษัทด้วยเพราะไม่ต้องตอบแบบประเมิน

โดยการประเมินในแบบของ FTSE ESG Scores นั้น อาจมีจำนวนตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินที่มีความละเอียดมากขึ้นกว่า 125 - 300 ตัวชี้วัด จากเกณฑ์เดิมที่ประมาณ 140 - 150 ตัวชี้วัด ประกอบด้วยคำถามทั่วไป 56% ละคำถามตามหมวดธุรกิจย่อยและประเทศท่ตั้ง 44%

ซึ่งผลคะแนนของทุกบจ. ที่เข้าร่วมจะถูกประกาศ โดยที่คะแนนจะมีตั้งแต่ 0.0 - 5.0  คะแนน และบริษัทจดทะเบียนที่รับการประเมินมีสิทธิ์รีวิวผลประเมินและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้

พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วางแผนและกำหนด Roadmap ของการยกระดับการประเมินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น

เพื่อให้การยกระดับการประเมิน ESG ไปสู่มาตรฐานสากลนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยกำหนดให้มีโครงการประเมินนำร่องในปี 2567-2568 เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะดำเนินการประเมินและประกาศผลสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในปี 2566 มี บจ. กว่า 192 บริษัท และที่อยู่ใน SET 100 Index ราว 35 บริษัทแล้วที่ความรวมมือในการประเมิน SET ESG Ratings โดยในปี 2568 ทางตลาดหลักทรัพย์ มีความต้องการที่จะขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนานเล็กใหม่เพิ่มขึ้น เพราะมองเห็นว่ามีหลายแห่งที่ให้ความสนใจด้านความยั่งยืนและทำลงานออกมาได้ค่อนข้างดีมาก

โดยทางตลาดหลกทรัพย์ฯ มีเป้าหมายที่จะขยายการประเมิน SET ESG Ratings ของบริษัทจดทะเบียนให้เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 350 ภายในปี 2568 และในปี 2569 จะเพิ่มเป็นกว่า 400 บริษัท ซึ่งเท่ากับว่าเกินกว่าครึ่งของจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีในปัจจุบันประมาณณ 800 บริษัท หรือมีมูลค่ากว่า 90% ของ Market Cap.

สำหรับในอนาคตหากมีพาร์ทเนอร์รายใหม่เข้ามาให้ความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับการประเมิน SET ESG Ratings เพิ่มเติม ตลาดหลักรัพย์ฯ ก็เปิดกว้างโอกาสในการร่วมมือ แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2569 จะเริ่มต้นประกาศผลประเมิน FTSE Russell ESG Scores สู่สาธารณะ และยกเลิกการประเมิน SET ESG Rating โดยอาจใช้ชื่อเรียกเป็น FTSE ESG Rating แทน