sustainability

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

In Brief

  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ (Heat Optimization and Recovery) ลดการใช้พลังงานความร้อนและไฟฟ้า 30-50%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-50%, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อน 20-30%
  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต (Process Equipment Optimization) ดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร 30-50%, ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 40%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-30%
  • เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ (Smart Pumps and Valves)  ลดการใช้พลังงาน 10-20%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-30%

 

    Krungthai COMPASS จี้ผู้ประกอบการไทย ปรับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรับตัวช้าอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน แนะ 3 เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย

ภาคอุตสาหกรรมหนึ่งในเครื่องยนต์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้กว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของ GDP ของไทย แต่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 59.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็น 24% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการหรือปรับตัวช้า  อาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition risk) โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาทิ การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการภาษีคาร์บอน หรือการใช้วัตถุดิบที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และความเสี่ยงด้านตลาดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจากการขาดโอกาสลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ

Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและวัดได้ อีกทั้งผู้ผลิตเครื่องจักรควรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เผชิญแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ได้แก่

  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ (Heat optimization and recovery) เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ หรือ Heat optimization and recovery คือเทคโนโลยีที่ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม  

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สามารถลดการใช้พลังงานความร้อนและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้ถึง 30-50% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20-50%  และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนได้ราว 20-30%

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 8 ล้านบาทต่อโรงงานอุตสาหกรรม และมีระยะเวลาคืนทุนราว 5-6 ปี มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 19.6% 

  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต (Process Equipment Optimization) เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต หรือ Process Equipment Optimization คือ เทคโนโลยีที่ใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและลดความสูญเสียจากการหยุดชะงักของการผลิต 

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตจะช่วยลดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร และลดต้นทุนการบำรุงรักษา สามารถช่วยลดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร ในกระบวนการผลิตได้ถึง 30-50%  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ราว 40% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 10-30% 

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

  • เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ (Smart pump and vales) เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ หรือ Smart pump and vales คือ อุปกรณ์ปั้มและวาล์วที่เชื่อมต่อข้อมูลกับเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ 

เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะจะช่วยประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน โดยการใช้ปั้มและวาล์วในการควบคุมการส่งถ่ายของไหล (Liquid Transfer) สามารถปรับอัตราการไหลได้อัตโนมัติและปรับพารามิเตอร์การทำงานให้เหมาะสมเพื่อให้ตรงกับความต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในระบบน้อยที่สุด ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าระบบแบบเดิมที่ไม่ได้มีการควบคุมที่แม่นยำ และช่วยลดการใช้พลังงานได้ 10-20% อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 10-30% 

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1.8 ล้านบาทต่อโรงงานอุตสาหกรรม และมีระยะเวลาคืนทุนราว 3-4 ปี มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 27.2%

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้?

ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและวัดได้ เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions)

ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์

ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ควรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การประยุกต์ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ควบคู่กับเทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อลดส่วนสูญเสียจากการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ภาครัฐ

ภาครัฐควรเป็นแกนหลักในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน สนับสนุนเงินทุนสำหรับการลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ภาคการเงิน

ภาคการเงินทั้งหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์จะเป็นอีกหนึ่ง Key enabler สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

 

บทความโดย : ปราโมทย์ วัฒนานุสาร ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS