sustainability

กรุงศรี ลุย ESG หนุนธุรกิจยั่งยืน ครึ่งปีปล่อยสินเชื่อสีเขียว 7.6 หมื่นล้าน

    แบงก์กรุงศรี เดินแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ ปี 2567-2569 ขับเคลื่อนธุรกิจเชื่อมโยงกับ ESG ยุติการปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน และตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่อความยั่งยืน 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 หลังผลการดำเนินงานครึ่งปีนี้ทำได้แล้ว 76,866 ล้านบาท

แผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 3 ครอบคลุมปี 2564-2566 ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจทั้งในส่วนของลูกค้าและของธนาคาร ให้มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

โดยหนึ่งในความสำเร็จสำคัญด้านธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน สะท้อนจากยอดสินเชื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้น 70,890 ล้านบาท จากปีฐาน 2564 โดยตั้งเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท

ปี 2567 เป็นปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ของกรุงศรี ครอบคลุมปี 2567-2569 โดยมีพันธกิจคือ “การเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ขับเคลื่อนด้วยสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับ ESG โดยกำหนด 3 กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว ได้แก่ การมุ่งสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ และการก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งอนาคต

ทั้งนี้ กรุงศรีตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดของธนาคารภายในปี 2573 และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

กรุงศรี ลุย ESG หนุนธุรกิจยั่งยืน ครึ่งปีปล่อยสินเชื่อสีเขียว 7.6 หมื่นล้าน

รวมทั้ง ลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 ปัจจุบันกรุงศรีมีการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้า ถ่านหิน 2,685 ล้านบาท (ข้อมูล 31 ธ.ค. 2566) คาดว่าเงินให้สินเชื่อดังกล่าวจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือศูนย์ภายในปี 2573 และจะส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงินยั่งยืนและการเงินสีเขียวในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางปี 2567-2569 กรุงศรีตั้งเป้าหมายการเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” (The Leading Sustainable and Regional Bank) และในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางการกำหนดกลยุทธ์เป้าหมาย และการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ ในส่วนของการวิเคราะห์พิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้า กรุงศรีได้นำมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy) ทั้งลูกค้าผู้ประกอบการ SME รวมถึงลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพอร์ตโฟลิโอโดยเฉพาะความเสี่ยงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง จากนั้นจึงขยายขอบเขตไปครอบคลุมอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ภาคการขนส่ง เป็นต้น

สำหรับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสังคมและความยั่งยืนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 76,866 ล้านบาท จากปีฐาน 2564 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 วงเงินสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นกว่า 14,616 ล้านบาท และเป็นตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นราว 4,474 ล้านบาท

“ปี 2566 กรุุงศรีได้ให้สินเชื่อธุรกิจพลังงานหมุุนเวียน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้า พลัังงานก๊าซชีวภาพและชีวมวล และพลังงานที่ผลิตจาก ขยะอุุตสาหกรรม คิดเป็นกำลังการผลิตราว 2,162 เมกะวัตต์ วงเงิน 11,880 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สภาพแวดล้อม 1,294,352.78 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาได้ให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นอีก 330 ล้านบาท รวมเป็นสนิเชื่อที่ปล่อยสนับสนุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจากปีฐานอยู่ที่ 12,210 ล้านบาท”

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรุงศรียัง ได้ออกผลิตภัณฑ์ “Krungsri SME Transition Loan” สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อระยะยาวสูงสุด 10 ปี ดอกเบี้ยพิเศษ 3.5% ในช่วง 2 ปีแรก เพื่อสนับสนุน SME ที่ต้องการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการบำบัดและกำจัดขยะมูลฝอยจากการดำเนินงาน

ทั้งนี้ กรุงศรีได้วางเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อในกลุ่มส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainable Finance) สำหรับผู้ประกอบการ SME รวมกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในปี 2567

รวมทั้ง กรุงศรียังสนับสนุน “สินเชื่อเพื่อสังคม” (Social Loan) ให้กับ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1,000 ล้านบาท ส่งมอบโอกาสให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงบริการทางการเงิน และสามารถมีรถใช้เป็นทุุนในการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้พร้อมก้าวสู่สังคมที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567