sustainability

ซีพี ตั้งเป้า 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน ประกาศร่วมมือคู่ค้าลดคาร์บอน 25%

    "ศุภชัย เจียรวนนท์" ซีอีโอเครือซีพี ตั้งเป้า 3 Big Goals เดินหน้าสู่ความยั่งยืน ประกาศร่วมมือคู่ค้าลดคาร์บอน 25% ในปี 2030 ลุยเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานหมุนเวียน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ร่วมเสนอวิสัยทัศนบนเวที “TSCN CEO PANEL : "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือสู่อนาคตที่ยั่งยืน" ในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ร่วมกับผู้บริหารองค์กรชั้นนำของประเทศ

ประกอบด้วย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ซีพี ตั้งเป้า 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน  ประกาศร่วมมือคู่ค้าลดคาร์บอน 25%

ทั้งนี้เพื่อนำเสนอโมเดลการสร้างธุรกิจคู่ความยั่งยืน พร้อมเสนอแนะแนวทางการสร้างความร่วมมือเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนร่วมกัน ทั้งนี้ภายในงานมีผู้บริหารองค์กรชั้นนำ นักธุรกิจ เครือข่ายองค์กรด้านความยั่งยืนระดับประเทศ และระดับโลก ผู้ประกอบการหลายสาขาให้ความสนใจเข้าร่วมฟังกว่า 1,000 คน ณ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ขณะที่ปี 2022 ทำได้แค่ 12% และปัจจุบันอยู่ที่ 17% ซึ่งช้ากว่ากำหนดและเหลือเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ สำหรับการผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนให้สำเร็จ 

ซีพี ตั้งเป้า 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน  ประกาศร่วมมือคู่ค้าลดคาร์บอน 25%

โดยเครือซีพี ในฐานะเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศได้ประกาศ และเร่งเดินหน้าเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมาย 17 SDGs  โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปีดังกล่าวรวม 3 เป้าหมายหลัก (Big Goals)  คือ 1.นำองค์กรสู่ Carbon Neutral  (Scope 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050  2.ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste)  และ 3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต 

นายศุภชัย ยังเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานนำเครือซีพีสู่เป้าหมาย Net Zero ว่า แม้ปัจจุบันธุรกิจเครือซีพีจะขยายกิจการเติบโตไป 21 ประเทศทั่วโลก แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาเครือฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ 2 ลง 0.6 ล้านตันเทียบกับค่าสูงสุดในปี 2021

โดยเครือฯ ได้ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อนำองค์กรสู่ Net Zero ทั้งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้มากขึ้น 17% การนำพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแมสและไบโอแก๊สมาใช้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานและคู่ค้าร่วมปลูกป่าลดคาร์บอนควบคู่ด้วย ส่วนการลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 เป็นเรื่องที่ใหญ่และท้าทายอย่างมาก  เครือฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายร่วมกับคู่ค้า ต้องลดคาร์บอนให้ได้ 25% ภายในปี 2030  ตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

ซีพี ตั้งเป้า 3 Big Goals สู่ความยั่งยืน  ประกาศร่วมมือคู่ค้าลดคาร์บอน 25%

ซีอีโอเครือซีพี ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net Zero โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม  โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีการออกนโยบาย และกฎระเบียบข้อบังคับมาส่งเสริมการลดคาร์บอน ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดดึงนักลงทุน รวมไปถึงการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ นำมาเป็นพลังงานทางเลือกที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ลดคาร์บอน ทั้งนี้ยังเป็นเรื่องที่จะต้องมาทำการศึกษาถึงภาพรวมและผลกระทบด้วย

ขณะเดียวต้องมีการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอน เพราะในตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วหรือ Extreme Weather โดยผลการศึกษาจากหลายที่คาดการณ์ว่าหากยังเกิดความผันผวนดังกล่าวมากยิ่งขึ้นจะทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ และจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย จากที่ไปลงพื้นที่ พบว่าผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมและดินสไลด์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่  ดังนั้นจึงควรต้องสร้างความร่วมมือเพื่อวางแนวทางเชิงป้องกัน

"การจะไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างมาก ต้องเร่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการลดคาร์บอนใน Scope 3 ภาคเอกชนไม่สามารถทำเองได้ แต่ต้องสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำประเทศไทยสู่ Net Zero สร้างความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกัน" นายศุภชัย กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานนายศุภชัย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนคู่ค้าภายใต้ TSCN Business Partner Code of Conduct โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทในเครือซีพี ในฐานะ Co -Founder เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นร่วมประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ด้วย