ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ในหัวข้อ Climate Finance taward SDGs ว่า เพื่อเน้นย้ำความความจำเป็นเร่งด่วนของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่าเงินทุนเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ให้ไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จากรายงานของ Global Landscape ยังแสดงให้เห็นว่า Climate Finance ที่มีในปัจจุบันยังมีน้อยเกินไป มูลค่าของ Climate Finance ในปี 65 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในแง่มูลค่าอาจจะดูว่าเยอะ แต่นี่เป้นเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนเงินที่โลกต้องการเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสูงถึง 7.4 ล้านล้านดอลลาร์/ปี
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า Climate Finance เป็รนประเด็นที่ยังคงมีความท้าทายอยู่มากในระดับโลก และยังคงต้องหาทางจัดการกันต่อไป โดยเมื่อเดือนพ.ย.67 ที่ผ่านมา มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP29 ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่อง Climate Finance เข้ามาร่วมหารือ โดยพยายามผลักดันให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มเป้าการสัดสรรเงินทุน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่กำลังพัฒนา
โดยเรียกร้องให้ขยับจากระดับปัจจุบันที่ 1 แสนล้านดอลลาร์/ปี เพิ่มเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์/ปี หรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์/ปี แต่ท้ายที่สุด Cop29 ก็ไม่ได้ไปถึงระดับที่คาดหวัง โดยสามารถบรรลุข้อตกลงการตั้งเป้าจำนวนเงินได้เพียง 3 แสนล้านล้านดอลลาร์/ปี ภายในปี 2035 ท่ามกลางความผิดหวังของประเทศกำลังพัฒนาที่มองว่าจำนวนเงินดังกล่าวนั้นน้อยเกินไป และดูเหมือนว่าเป้าหมายที่วางไวเป็นเหมือนเพียงภาพลวงตา ที่่ผานมาการจัดสรรเงินทุนมักไม่เป็นไปตามเป้าหมายอยู่แล้ว
หันกลับมามองในประเทศไทยพบว่า เรายังมีความต้องการใช้เงินจำนวน 5-7 ล้านล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 แต่อย่างไรก็ดี มองว่าจำนวนเงินอาจยังไม่ใช่ประเด็นเดียวที่จำเป็นจะต้องเอามาพิจารณา แต่ยังคงมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวของประเทศไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทาง ธปท. มุ่งผลักดันให้ภาคการเงินมีบทบาทช่วยให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับความท้าทายและบริบทของไทย โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
พร้อมกันนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ทาง ธปท. ได้มีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ Financing the Transition ได้ตั้งเป้าสินเชื่อที่จะปล่อยภายในปี 2025 สูงถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าจาก brown เป็น less brown โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ไปแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ภาคโรงแรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคเกษตร เป็นต้น
โดยหลังเริ่มดำเนินโครงการ Financing the Transition มาได้สี่เดือนเศษ จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจทำให้เราได้บทเรียนที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่
1. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับตัว คือ ธุรกิจเองต้องตระหนักถึงความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและมีความตั้งใจที่จะปรับตัว ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs อาจจะยังมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ยังมาไม่ถึง ยังไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ก็มีภาคธุรกิจบางส่วนที่ได้รับแรงกดดันแล้วจากเกณฑ์ต่างประเทศ และความต้องการของลูกค้าต่างชาติ จนต้องเริ่มปรับตัวก่อน
ในระยะต่อไปแรงกดดันจากเกณฑ์ต่างๆ และความต้องการของนักลงทุนและ ผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นและขยาย scope มากขึ้น สำหรับในประเทศ ภาครัฐกำลังจะออกใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้า ซึ่งจะกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสูงต้องรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์และมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ดังนั้น แรงกดดันให้เกิดการปรับตัวจะชัดเจนและเข้มข้นขึ้นในอนาคตอันใกล้ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
2. ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาหากเราคิดถึงธนาคารก็คงคิดถึงการให้เงินกู้หรือการช่วยเหลือทางการเงิน แต่จากการทำโครงการ Financing the Transition พบว่าหลายธนาคารมีการวิเคราะห์เสาะหากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการปรับตัว แล้วธนาคารได้เข้าไปทำความเข้าใจธุรกิจและเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
และพบว่าในหลายครั้งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงิน แต่อยู่ที่การขาดองค์ความรู้หรือขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นในการปรับตัว เช่น ต้องการองค์ความรู้การวัดและวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก หรือต้องการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้พยายามแก้ปัญหาของลูกค้าอย่างจริงจัง โดยการไปจับมือกับพันธมิตร ทั้งบริษัทเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง
3. การจะผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปได้ยังต้องการมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือให้การสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนของภาครัฐในรูปมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนด้าน green certificate ต่างๆ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทั้งเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยีสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งผ่านศักยภาพดังกล่าวไปให้แก่บริษัทในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะ SMEs ได้ ซึ่ง ธปท. เห็นว่า model ในลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการ เปลี่ยนผ่านได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
"เมื่อมองไปข้างหน้าจะมีแรงกดดันให้ภาคธุรกิจ เกิดการปรับตัวมากขึ้นจากเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะมีความเข้มข้นขึ้น และภาคการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ไทยได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แม้ว่าสองปัจจัยข้างต้นเป็นตัวผลักดันสำคัญให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่กระจายตัวมากพอ การปรับตัวในวงกว้าง ในอัตราเร่งที่มากขึ้น คงต้องอาศัยมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นหัวขบวนของห่วงโซ่การผลิตมาเป็นแรงหนุนสำคัญ"
ดังนั้น ในระยะต่อไป นอกเหนือจากการพัฒนา building blocks อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคการเงิน มีศักยภาพและเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและระบุกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท. ตั้งใจจะขยายผลโครงการ Financing the Transition โดยร่วมมือกับบริษัท ขนาดใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันบางห่วงโซ่การผลิต ให้ปรับตัวจาก brown เป็น less brown ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นพลังขับเคลื่อน อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคใดภาคหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาคการเงิน จะต้องมีกลไกความร่วมมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งการออกแบบมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจและองค์ความรู้ การจัดหาเทคโนโลยีการปรับตัวที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึง จึงจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวที่เห็นผลได้จริง เพราะ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง