นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยในงานสัมมนา Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ช่วง The Next Chapter of Transportation for Sustainability จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ที่ผ่านมาการให้บริการรถไฟยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการตรงต่อเวลาการให้บริการ ความสะอาด ความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางผู้ใช้บริการยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังพบว่า การเดินรถไฟในภูมิภาคจากสถานีรถไฟไปยังสถานีขนส่งสาธารณะยังเข้าไม่ถึงมากนัก ทำให้ผู้ใช้บริการไม่มีความมั่นใจในการบริการมากนัก ซึ่งเป็นจุดที่ยังไม่คุ้มค่าแก่ผู้โดยสาร
“ขณะนี้พบว่ารถไฟในภูมิภาคเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น โดยโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 เส้นทาง คาดว่าจะเปิดให้บริการครบตลอดระยะที่ 1 ภายในต้นปี 68 สิ่งที่รฟท.ต้องดำเนินการ คือ การหาฟีดเดอร์ให้ทั่วถึงและการจัดหาคนขับรถไฟเพื่อรองรับการพัฒนารถไฟในอนาคต รวมถึงการให้บริการที่ตรงต่อเวลา และความสะอาดด้วย” นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมารฟท.ได้มีการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 90 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยพบว่า 1 ใน 3 ด้านคมนาคมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด หากมีการหันมาใช้การขนส่งทางรางจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ล่าสุดจากการเข้ามาทำงานในระยะเวลา 2 เดือน นั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.อนุมัติจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด จากปัจจุบันที่มีการใช้หัวรถจักรที่ใช้งานแล้วกว่า 37 ปี โดยตามปกติทั่วประเทศจะมีการใช้หัวรถจักรแล้วทิ้งประมาณ 30ปี แต่ไทยมีการนำรถจากต่างประเทศเข้ามาปรับปรุงและใช้ภายในประเทศ
ขณะเดียวกันรฟท.มีแผนจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด ซึ่งเป็นการลดการการใช้พลังงานดีเซลลง 10-30% หากรฟท.สามารถลดการใช้พลังงานดีเซลได้ 20% หรือทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 6 ลิตรต่อกม. หากทั้งปีมีการใช้หัวรถจักรไฮบริดจะทำให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 100,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรฟท.จะนำเรื่องนี้จะเข้าร่วมโครงการ TVER ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้รฟท.จะได้รับคาร์บอนเครดิตทดแทน
ขณะเดียวกัน รฟท.ยังมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื่องจากเป็นสถานที่มีความใหญ่และกว้างขวาง คาดว่าภายใน 1 ปี จะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ภาพรวมการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรฟท.ในปัจจุบันอยู่ที่ 110,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
นายวีริศ กล่าวต่อว่า การซื้อหัวรถจักรไฮบริดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ซึ่งประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจากการใช้ประสิทธิภาพระบบรางได้เต็มที่มีการสร้างหัวรถจักรได้เอง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน ตุรกี ฯลฯ เมื่อมีการซื้อหัวรถจักร 1 ครั้งจะต้องมีการทำสัญญาร่วมกันกว่า 30-40 ปี ไม่ใช่การซื้อรถจักรแล้วเสร็จ แต่มีการบำรุงรักษาและเข้าศูนย์ด้วย
“สิ่งที่จะทำให้รฟท.ยั่งยืนได้และมีประสิทธิภาพ คือ การพัฒนาสร้างหัวรถจักรเอง ทำให้เกิดอุตสาหกรรมภายในประเทศ เชื่อว่าจะเริ่มเห็นได้ภายใน 2-3 ปี ในอนาคตอาจจะมีการสร้างนิคมการรถไฟฯได้เช่นกัน ทั้งนี้ต้องเป็นนโยบายระยะยาวที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้” นายวีริศ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง