สถานการณ์ความไม่สอดคล้องกันของระดับการศึกษาและอาชีพ ในตลาดแรงงานไทย

28 พ.ย. 2560 | 23:30 น.
TP07-3318-1A ความไม่สอดคล้องกันของระดับการศึกษาและอาชีพในตลาดแรงงาน (Labor MarketMismatch) เป็นสถานการณ์ที่พบมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถานการณ์นี้เริ่มจะพบมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ใช้นโยบายทางการศึกษาเป็นนโยบายหลักในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหากพิจารณาสัดส่วนการใช้จ่ายทางการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศเหล่านี้จะอยู่ในระดับที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงระหว่างปี 2543-2554 รัฐบาลไทยมีสัดส่วนการใช้จ่ายทางการศึกษาต่อ GDP ถึง 4% หรือเทียบเท่ากับ 20-25% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555)

หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโดยแบ่งตามระดับการศึกษาจะพบว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสัดส่วนของอัตราการลงทะเบียน เพิ่มขึ้นจากเพียง 1.3% ในปี 2513 (Hawley, 2547) เป็น 46% ในปี 2555 (World Bank, 2556) ขณะที่จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นจากประมาณ 12,000 คนในปี 2514-2515 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2517) เป็นประมาณ 160,000 คน ในปี 2553 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2556)

และหากพิจารณาขั้นตอนการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจไทยประกอบกัน จะพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจไทยได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเกษตรเป็นหลักมาเป็นเศรษฐกิจที่เน้นหนักด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ได้ทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูง ซึ่งในเบื้องต้นการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ในตลาดแรงงาน ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงสามารถหางานได้ง่ายและได้รับค่าตอบแทนที่สูง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้แรงงานในตลาดมีความต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

บาร์ไลน์ฐาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายของภาครัฐในช่วงเวลาต่อมาโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ภาครัฐได้เน้นหนักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งแม้จะมีความต้องการแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูง แต่ก็จำเป็นที่แรงงานต้องมีทักษะเฉพาะที่ตอบสนองการทำงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่าภาครัฐจะมีการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงผ่านนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาโดยทั่วไป

นอกจากนั้น นโยบายด้านค่าจ้างแรงงานบางนโยบาย เช่น นโยบายจบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท ก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้มีความต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากนโยบายที่ไม่ได้คำนึงและพิจารณาถึงความต้องการแรงงานของตลาดแรงงานอย่างถี่ถ้วนนั้น อาจก่อให้เกิดสถานการณ์ความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงาน (Labor Market Mismatch) ในประเทศไทยทั้งในประเด็นการทำงานที่ไม่ตรงกับระดับการศึกษา (Vertical Mismatch)

กล่าวคือ แรงงานบางส่วนมีการทำงานตํ่ากว่าระดับการศึกษา ยกตัว อย่างเช่น ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทำงานในงานที่มีคุณลักษณะที่ต้อง การเพียงผู้สำเร็จมัธยมปลายเท่านั้น และประเด็นการทำงานในสาขาที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา (Horizontal Mismatch) เนื่องจากไม่มีตลาดแรงงานที่รองรับ ยกตัวอย่างเช่น ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหางานที่ตรงสาขาได้ทำให้ต้องทำงานในสาขาอื่น เป็นต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยของผู้เขียน Paweenawat and Vechbanyongratana (2558) ได้ชี้ชัดว่า สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทางลบต่อสภาวะของตลาดแรงงานและค่าจ้างในประเทศไทย โดยพบว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานไทย มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่สูงมาก และเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Overeducation ในประเทศไทย กล่าวคือ แรงงานที่ทำงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน บางส่วนมีความรู้ในระดับที่สูงเกินกว่าระดับความรู้ที่ตำแหน่งงานนั้นๆ ต้องการ โดยจากการใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2550-2552 ทำการศึกษาในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพศชาย พบว่าแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานภายหลังจากปี 2533 จำนวน 60% เป็นแรงงานที่ทำงานตํ่ากว่าระดับการศึกษา โดยหากเมื่อเทียบกับกลุ่มแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงก่อนปี 2523 นั้น มีแรงงานที่ทำงานตํ่ากว่าระดับเพียง 20% เท่านั้น โดยการที่มี Overeducation ในตลาดแรงงานได้ส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างแรงงาน หรือการเกิด Wage Penalty ในกลุ่มตัวอย่างนี้ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผลการประมาณการพบว่า มีค่า Wage Penalty โดยเฉลี่ยประมาณ 17% เมื่อเทียบกับแรงงานที่ทำงานตรงตามระดับการศึกษา นอกจากนั้นแล้ว แรงงานที่เข้าสู่ตลาด แรงงานหลังจากปี 2543 ระดับค่า Wage Penalty เพิ่มสูงขึ้นเป็น 24%

นอกจากเรื่องการทำงานที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาแล้ว ตลาดแรงงานไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องการประกอบอาชีพที่ไม่ตรงตามสาขาที่เรียน โดยจากผลการศึกษาจากงานวิจัยล่าสุดของผู้เขียน Paweenawat and Vechbanyongratana (2560) พบว่า ปัจจุบันผู้สำเร็จการศึกษาในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ซึ่งเป็นสาขาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนในปัจจุบันนั้น ทำงานตรงตามสาขาที่เรียนคือในสาขา STEM เพียง 34% เท่านั้น โดยผลจากการทำงานไม่ตรงตามสาขานั้นทำให้เกิดค่า Wage Panelty โดยเฉลี่ยถึง 28% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานตรงสาขา

โดยสรุปแล้ว ผลสรุปจากงานวิจัยที่ผ่านมานี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทยทั้งในเรื่องของระดับการศึกษาและอาชีพในปัจจุบัน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องพิจารณานโยบายทั้งทางด้านการวางแผนการศึกษา เพื่อสนับสนุนการศึกษาในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายการกำหนดค่าจ้างที่ควรเน้นด้านทักษะและความสามารถของแรงงานมากกว่าระดับการศึกษา

วิทยุพลังงาน หมายเหตุ - บทความนี้เป็นการสรุปจากผลงานวิจัยของ ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ และ ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ดังต่อไปนี้
• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2558) “Wage Consequences of Rapid Tertiary Education Expansion in a Developing Economy: The Case of Thailand,” The DevelopingEconomies, 53 (3): 218-231
• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2560) “Private Returns to STEM Education and Implications for Middle-Income Trap Countries: Evidence from Thailand,” Working Paper 2017

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว