ถ้า AI เก่งกว่ามนุษย์ แล้วมนุษย์ยังต้องทำงานไหม?

18 ม.ค. 2561 | 00:04 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2561 | 21:03 น.
TP07-3332-1A ช่วงที่ผ่านมานี้คนหลากหลายวงการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสามารถทำงานหลายอย่างที่มนุษย์ทำได้และทำได้ดีกว่ามนุษย์ด้วย เราเห็นความสามารถในการทำงานในโรงงานที่แม่นยำและไม่มีเหน็ดเหนื่อย เราเห็นความสามารถในการเรียนรู้หลักการและกลยุทธ์ ของ AlphaGo ที่เอาชนะแชมป์โลกหมากล้อมที่เป็นมนุษย์ได้ (แล้วเราก็เห็น AlphaGo Zero ที่สามารถชนะ AlphaGo ได้เองอีก) นอกจากนี้ AI สามารถทำงานที่ปัจจุบันใช้ทักษะสูงบางอย่างได้แล้วด้วย เช่น การใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคบางชนิด โดย AI มีความแม่นยำมากกว่าแพทย์เสียอีก รวมถึงการใช้ Robo Advisor ในการแนะนำการลงทุน

วงการนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเช่นกัน คำถามหนึ่งที่สำคัญคือถ้า AI เก่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วมนุษย์ยังต้องทำงานไหม บทความนี้ได้นำผลการศึกษาเชิงประจักษ์ล่าสุด และชวนเพื่อเปิดประเด็นเกี่ยวกับโลกอนาคตของตลาดแรงงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

728x90-03 ++ในอดีต…เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่หลายครั้ง แต่คนยังมีงานทำ
เราเห็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีสำคัญหลายครั้งที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะ เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรไอนํ้า และนำไปสู่การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย ต่อมาเราก็สามารถเขียนโปรแกรมให้เครื่องจักรทำงานเองได้ โดยเฉพาะงานที่อาศัยการทำซํ้าๆ โดยเราได้พบแล้วว่าเครื่องจักรสามารถทำงานบางอย่างได้เก่งกว่ามนุษย์ มาจนถึงยุคของอินเตอร์เน็ตที่เปรียบเสมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิตอล ในหลายประเทศทั่วโลกเราพบว่าการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ที่ผ่านมาเครื่องจักรยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้เสียทุกอย่าง

Autor and Solomons (2017) ได้วิเคราะห์ข้อมูลแรงงานของประเทศ OECD หลายประเทศพบว่า หากวิเคราะห์อุตสาหกรรมภายในประเทศ จะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นจะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนั้นน้อยลง โดยคนจะย้ายไปทำงานอุตสาหกรรมอื่นแทน เช่น การใช้โปรแกรม Excel ไม่ได้แทนที่นักบัญชีอย่างสมบูรณ์ นักบัญชีเองก็ไม่ได้ตกงานแต่ย้ายไปทำงานอื่นที่ใช้ทักษะสูงกว่า

โดยหากมองภาพรวมของทั้งประเทศ จะพบว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้เกิดรายได้โดยรวมของประเทศที่สูงขึ้น และรายได้เหล่านั้นถูกนำไปใช้ในการบริโภคทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานที่สูงขึ้น คนจึงยังมีงานทำอยู่

บาร์ไลน์ฐาน ++ในอนาคต… คนยังคงมีงานทำจริงหรือ?
คำถามนี้กำลังถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในวงการเศรษฐศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ พัฒนาการทางเทคโนโลยี AI ครั้งนี้จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ประเด็นต่างๆ ที่ยังคงถกกันและอยากเปิดประเด็นให้ไปคิดต่อกัน มีดังนี้

1.เรื่องคนกับงาน
• กระแสหนึ่งมองว่าคนยังคงต้องทำงาน เพราะพัฒนาการของ AI คือการเพิ่มประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีอีกระลอกหนึ่ง โดยเราจะเห็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนจะปรับตัวเองและย้ายไปทำงานที่ AI ยังทำไม่ได้ 100% เช่น งานบริการดูแลผู้สูงอายุ งานด้านการท่องเที่ยว และอาจจะมีอาชีพใหม่ๆ เช่น อาชีพบริหารจัดการ AI สรุปแล้วคนยังทำงานแต่จะทำงานน้อยชั่วโมงน้อยลง

• อีกกระแสหนึ่งมองว่า พัฒนา การทางเทคโนโลยีรอบนี้ไม่เหมือนรอบก่อน เพราะ AI มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาเองได้ และคงทำงานแทนคนได้เกือบทั้งหมด ในโลกใหม่นี้ เราอาจจะเห็นคนอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำงาน โดยคนอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีซึ่งจะมีรายได้ กลับกลุ่มที่ไม่มีอะไรเลยซึ่งอาจจะต้องรับเงินสวัสดิการประเภท Universal Basic Income เหมือนกับการจ่ายเงินให้คนอยู่เฉยๆ เพราะมันอาจจะคุ้มกว่าให้คนทำงานแต่สู้หุ่นยนต์ไม่ได้

2.โมเดลธุรกิจจะหน้าตาไม่เหมือน เดิม เราจะเห็นโมเดลทางธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งการใช้ Big Data และ Machine Learning ในการวิเคราะห์ตลาดและผลิตสินค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Decentralized Autonomous Organization (DAO) ซึ่งใช้ระบบและโค้ดคอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจของคนเลยก็ได้ เมื่อโมเดลธุรกิจกำลังเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ นักเศรษฐศาสตร์ยังตกลงกันไม่ได้ว่า สรุปแล้ว AI เป็นปัจจัยการผลิตประเภทไหนใน Production Function เป็น เทคโนโลยี ทุน หรือแรงงาน หรือว่า AI ควรจัดเป็นปัจจัยการผลิตประเภทใหม่ไปเลย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-2 3.ความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ น่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะคน เพียงหยิบมือจะมี AI ไว้เพื่อสร้างรายได้อย่างมหาศาล โดยคนที่เหลืออาจต้องอาศัยเพียงเงินสวัสดิการประเภท Universal Basic Income เพื่อการดำเนินชีวิต หากมองไปในระดับประเทศ ก็อาจเห็นการกระจุกตัวของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจาก AI ด้วยเช่นกัน เพราะ AI สามารถปฏิบัติงานได้ข้ามพรมแดนประเทศ ดังนั้นประเทศมหาอำนาจ AI จะยิ่งรํ่ารวยและทิ้งห่างประเทศอื่นมากขึ้นอีก

4.กฎระเบียบต่างๆ ต้องรีบ ตามให้ทัน ถ้าวิถีการทำธุรกิจเปลี่ยนไปมากขนาดนี้ เราคงต้องมาคิดกันใหม่เกี่ยวกับระบบภาษี การทำสัญญาทางธุรกิจ ตลอดจนนโยบายการค้า รวมถึงเราควรต้องเก็บภาษีหุ่นยนต์หรือไม่และอย่างไร

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยน แปลงทางเทคโนโลยีนี้ คงจะมีคำถามมากกว่าคำตอบว่าคนยังต้องทำงานหรือไม่ หน้าตาธุรกิจและเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากอดีตคือคนจะต้องปรับตัว และเราคงจะไม่ได้เห็นรูปแบบการทำงานแบบเดิมอีกต่อไป

หมายเหตุ: *อ้างอิงจาก
Autor, David H., and Anna Solomons 2017. “Robocalypse Now: Does Productivity Growth Threaten Employment?”
Goldfarb, Avi, and Catherine Tucker. 2017. “Digital economics.”
**ผู้เขียนขอขอบคุณผู้เข้าร่วมงาน AI Study Group, งานสัมมนา/เสวนาต่างๆ ที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ได้ช่วยกันถกประเด็น ทำให้ผู้เขียนได้มีความคิดต่อยอดมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ค่ะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9